ฝนดาวตกลีโอนิดส์มาตรงกับคืน "วันลอยกระทง"

<
<


ฝนดาวตกลีโอนิดส์ วันที่ 18 พ.ย.52 เวลา 01.19 น. (Tony Hallas, Science Faction/Corbis)




สดร.- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย "ฝนดาวตกลีโอนิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต" ปีนี้มีจำนวนมากสุดระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. ตรงกับดวงจันทร์เต็มดวงในคืนลอยกระทงพอดีจึงสังเกตเห็นได้ยาก แนะรอชม “ดาวหางไอซอน” ปลาย พ.ย. นี้

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า วันที่ 17-18 พ.ย.56 จะเกิดปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" สังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พ.ย.55 ต่อเนื่องไปถึงเช้ามืดของวันที่ 18 พ.ย.56 ช่วงเวลาที่คาดการณ์ว่าสามารถเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด คือ 03:00 ถึง 04:00 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กลุ่มดาวสิงโต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก

“ในปีนี้ดวงจันทร์ไม่เป็นใจให้ชมฝนดาวตกลีโอนิดส์เนื่องจากเป็นช่วงดวงจันทร์เต็มดวงพอดี แสงสว่างของดวงจันทร์เต็มดวงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการสังเกตการณ์ฝนดาวตก ทั้งนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าอาจเห็นดาวตกประมาณ 10-20 ดวงต่อชั่วโมง” รองผู้อำนวยการ สดร.ระบุ

ฝนดาวตกลีโอนิดส์เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก โดยมีความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”

สำหรับข้อแนะนำในการชมฝนดาวตก ควรเป็นสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะสังเกตดาวตกมีความสว่างมาก ทั้งนี้ วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุด ให้นอนรอชมเนื่องจากช่วงที่เกิดฝนดาวตกจุดศูนย์กลางจะอยู่เหนือท้องฟ้ากลางศีรษะพอดี ส่วนการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้น ไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าควรตั้งกล้องทางทิศไหน ต้องอาศัยการเดาหรือเปิดหน้ากล้องเพื่อรอให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง เนื่องจากฝนดาวตกลีโอนิดส์มีอัตราเร็วสูงมาก และกระจายทั่วท้องฟ้า

นอกจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่จะได้ชมกันในเดือน พ.ย.แล้ว ในเดือน ธ.ค.ยังมีฝนดาวตก เจมินิดส์หรือฝนดาวตกคนคู่ ให้ชมส่งท้ายปี 2556 อีกด้วย จะเกิดขึ้นมากที่สุดในวันที่ 13-14 ธ.ค.56 สามารถสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 ธ.ค.56 ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 14 ธ.ค.55 ในปีนี้ดวงจันทร์ก็ไม่เป็นใจให้ชมฝนดาวตกเจมินิดส์อีกเช่นกัน เนื่องจากเป็นช่วงดวงจันทร์ข้างขึ้น 11-12 ค่ำ แสงสว่างของดวงจันทร์นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเฝ้ารอชมฝนดาวตก

ดร.ศรัณย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าในปี 2556 สภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวยต่อการชมฝนดาวตกลีโอนิดส์และฝนดาวตกเจมินิดส์ แต่ในปีนี้นับว่าเป็นปีแห่งดาวหาง มีดาวหางสว่างหลายดวงแวะเวียนเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในหลายดวง เช่น ดาวหางแพนสตารร์ ดาวหางเลมมอน ดาวหางเองเค ดาวหางลิเนียร์ ดาวหางเลิฟจอย และดาวหาง ไอซอน

“สำหรับดาวหางไอซอนนั้น เป็นที่จับตามองของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกเนื่องจากนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าอาจมีความสว่างมากจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยในวันที่ 28 พ.ย.56 นี้ ดาวหางไอซอนจะโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด คาดว่าช่วงที่เหมาะในการสังเกตการณ์ได้แก่ 15-25 พ.ย.56 และ 8-15 ธ.ค.56 คงต้องรอลุ้นกันว่าดาวหางไอซอนจะรอดพ้นจากพลังทำลายล้างของดวงอาทิตย์โผล่มาอวดโฉมให้ชาวโลกได้ชมกันหรือไม่ ต้องรอติดตาม” ดร.ศรัณย์กล่าว











ที่มา : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000142533
____________________

loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags: ,
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...