นักวิทยาศาสตร์จัดดาวเคราะห์ยักษ์เข้าจำพวกใหม่ เปรียบเป็น 'ก็อดซิลลา' เมื่อเทียบกับโลกของเรา ชี้เป็นการค้นพบที่เปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับกำเนิดของจักรวาล
เซเวียร์ ดูมัสเกอ แห่งสถาบันฟิสิกดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน บอกกับที่ประชุมของสมาคมนักดาราศาสตร์อเมริกัน ในเมืองบอสตัน ว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ตรวจพบดาวเคราะห์บริวารดวงหนึ่งของดาวฤกษ์เคปเลอร์-10
ดาวเคราะห์ดวงนี้ ถูกตั้งชื่อว่า เคปเลอร์-10ซี มีพื้นผิวเป็นหินแข็งคล้ายโลก แต่มีมวลมากกว่าโลก 17 เท่า และมีขนาดใหญ่กว่าโลก 2.3 เท่า
ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ไม่คาดคิดว่าดาวเคราะห์ที่มีเนื้อเป็นหินจะมีดวงโตถึงขนาดนี้ได้ เพราะดาวเคราะห์ที่มีเส้นรอบวงขนาดนั้นน่าจะสั่งสมก๊าซไฮโดรเจนจนกลายเป็นดาวเคราะห์ก๊าซไป อย่างเช่นดาวพฤหัสบดี
ดิมิทาร์ แซสลอฟ ผู้อำนวยการโครงการศึกษากำเนิดสิ่งมีชีวิตของฮาร์วาร์ด บอกว่า เคปเลอร์-10ซี เปรียบเป็นก็อดซิลลาเมื่อเทียบกับโลก
เคปเลอร์เป็นกล้องสำหรับล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา ตรวจจับและจัดประเภทวัตถุว่าเป็นดาวเคราะห์หรือไม่โดยดูจากการโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ แต่กล้องตัวนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าวัตถุนั้นมีเนื้อสารเป็นหินหรือก๊าซ
กล้องที่ตรวจวัดมวลของเคปเลอร์-10ซี คือ กล้องพิเศษตัวหนึ่งที่หมู่เกาะคานารี ทำหน้าที่จัดประเภทว่าวัตถุนั้นอยู่ในจำพวกซูเปอร์-เอิร์ธ หรือมินิ-เนปจูน
ดาวเคราะห์จำพวกมินิ-เนปจูน มีขนาดใหญ่กว่าโลก แต่เล็กกว่าดาวเนปจูนซึ่งเป็นดาวเคราะห์ก๊าซที่มีมวลหนาแน่น
@ ภาพแสดงดาวเคราะห์เคปเลอร์-10ซี (ดวงหน้า) ที่มีฉายาว่า 'เมกะ-เอิร์ธ' ขณะเคปเลอร์-10บี ซึ่งเป็นโลกของลาวา โคจรอยู่ใกล้กัน ทั้งสองโคจรรอบดาวฤกษ์ เคปเลอร์-10 ซึ่งคล้ายดวงอาทิตย์
ด้วยเหตุที่เคปเลอร์-10ซี มีความหนาแน่นเกินคาด จึงถูกจัดเป็นดาวเคราะห์จำพวกใหม่
ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์ในทุกๆ 45 วัน บ่งบอกว่าน่าจะมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าสิ่งมีชีวิตจะอยู่รอดได้
ระบบสุริยะของเคปเลอร์-10 อยู่ห่างจากโลก 560 ปีแสง มีอายุ 11,000 ล้านปี ก่อตัวขึ้นหลังจากปรากฏการณ์บิกแบงไม่ถึง 3,000 ล้านปี
นั่นหมายความว่า วัตถุขนาดใหญ่ที่มีเนื้อสารเป็นหินสามารถก่อตัวขึ้นได้แม้ในเวลานั้นพวกธาตุหนักอย่างซิลิกอนและเหล็กยังมีน้อยมาก จักรวาลในช่วงแรกเริ่มนั้น มีแต่ไฮโดรเจนกับฮีเลียม
แซสลอฟ บอกว่า การค้นพบเคปเลอร์-10ซี บอกเราว่า ดาวเคราะห์ได้ถือกำเนิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยเข้าใจกันมากทีเดียว และถ้ามีหินก็อาจมีสิ่งมีชีวิต.
ที่มา : hxxp://news.voicetv.co.th/
____________________
loading...