ดวงจันทร์ของเราอาจเยาว์วัยกว่าที่คิด 100 ล้านปี

<
<


ภาพแนวคิดแสดงการชนกันของดาวเคราะห์ตามข้อมูลที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ของนาซาจับสัญญาณเศษซากของหายนะดังกล่าวได้ เมื่อปี 2009 ซึ่งเชื่อว่าการกำเนิดดวงจันทร์ของโลกก็มีรูปแบบเดียวกัน (สเปซด็อทคอม/นาซา)

       งานวิจัยใหม่จากการวิเคราะห์หินดวงจันทร์บ่งชี้ว่า ดวงจันทร์น่าจะมีอายุน้อยกว่าที่เคยเข้าใจอยู่ประมาณ 100 ล้านปี โดยทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับเกี่ยวกับกำเนิดบริวารของโลก ระบุว่าดวงจันทร์เกิดจากดาวเคราะห์ลึกลับที่มีขนาดเท่ากับดาวอังคารหรือใหญ่กว่าพุ่งชนโลกในช่วงเวลาที่ระบบสุริยะเพิ่งก่อเกิด
     
       ทว่ารายงานของบีบีซีนิวส์ งานวิจัยใหม่นี้ได้ศึกษาหินดวงจันทร์ซึ่งให้ผลบ่งชี้ว่า ดวงจันทร์น่าจะเกิดจากการรวมตัวของเศษซากที่ระเบิดออกไปในอวกาศ จากการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์ ซึ่งจริงๆ แล้วเกิดขึ้นระหว่าง 4.4-4.45 พันล้านปี ไม่ใช่ 4.56 พันล้านปีอย่างที่ทฤษฎีซึ่งได้รับการยอมรับขณะนี้ระบุ
     
       การศึกษาล่าสุดนี้ทำให้ดวงจันทร์ของเราอ่อนเยาว์ลง 100 ล้านปีจากที่เคยเข้าใจ ซึ่งนั่นอาจจะเปลี่ยนความเข้าใจของนักวิทยาศาสตร์ที่มีต่อช่วงกำเนิดโลก ซึ่งรวมถึงความเข้าใจต่อบริวารดวงนี้ด้วย โดย ริชาร์ด คาร์สัน (Richard Carlson) หนึ่งในทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี (Carnegie Institution for Science) ในวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ กล่าวว่า ยังมีเรื่องให้ต้องศึกษาอีกมาก เกี่ยวกับกำเนิดดวงจันทร์ที่ล่าช้ากว่าที่คิดนี้ เช่นสภาพของโลกของในยุคแรกๆ
     
     

     

     
     

     
       คาร์สันอธิบายว่า นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างทราบอายุของระบบสุริยะเป็นอย่างดี คือ ประมาณ 4.568 พันล้านปี และสามารถระบุช่วงเวลากำเนิดของวัตถุอวกาศขนาดเล็ดอย่างดาวเคราะห์น้อยได้อย่างแม่นยำด้วย โดยพิจารณาถึงช่วงเวลาที่วัตถุอวกาศเหล่านั้นเกิดละลายอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการชนกันและรวมตัวกันของวัตถุต้นกำเนิดดาวเคราะห์ที่เรียกว่า “แพลเนตเอซิมัล” (planetesimal)
     
       ตัวอย่างเช่นการวิเคราะห์อุกกาบาตที่มาจากดาวเคราะห์น้อยเวสตา (Vesta) ซึ่งพุ่งเข้ามาในโลก เผยให้เห็นว่าหินอวกาศที่กว้าง 530 กิโลเมตรลูกดังกล่าว มีอายุ 4.565 พันล้านปี และเวสตายังเย็นตัวลงค่อนข้างเร็ว และเล็กเกิดกว่าที่จะรักษาความร้อนภายในที่ขับเคลื่อนให้เกิดของเหลวละลายอยู่ภายในหรือทำให้เกิดภูเขาไฟขึ้นได้ แต่คาร์สันอธิบายต่อว่า เป็นเรื่องยากกว่าที่จะระบุอายุของวัตถุอวกาศที่ใหญ่กว่าได้อย่างชัดเจน
     
       ถ้าถามเรื่องเดียวกันนี้สำหรับโลกหรือดวงจันทร์ คาร์สันกล่าวว่า เราจะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนเลย และดูเหมือนโลกจะใช้เวลาที่นานกว่าในการขยายขนาดจนเต็ม แต่นักวิทยาศาสตร์ก็คำนวณออกมาได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่การคำนวณเหล่านั้นก็ทำให้ขยับอายุในการกำเนิดของดวงจันทร์ออกไปด้วย
     
       เชื่อว่าในช่วงเวลาสั้นๆ หลังก่อกำเนิดดวงจันทร์ทั้งดวงได้โอบอุ้มทะเลหินเหลวหนืดไว้ ซึ่งจากการประเมินอายุของหินดวงจันทร์ที่เกิดจากทะเลเหล่านั้นพบว่ามีอายุประมาณ 4.36 พันล้านปี และจากสัญญาณของหลายตำแหน่งที่พบอยู่บนโลก นักวิทยาศาสตร์คำนวณออกมาได้ว่า การหลอมเหลวครั้งมโหฬารนั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4.45 พันล้านปี ดังนั้นเหตุการณ์ชนกันครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดดวงจันทร์น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาราวๆ นั้น มากกว่าจะเป็นช่วงเวลา 100 ล้านปีก่อนหน้านั้นหรือนานกว่านั้นอีก
     
     







ที่มา :http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000120613

loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags: ,
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...