ยานอวกาศนาซามุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ไขปริศนา 40 ปี

<
<


ภาพขณะจรวดไมนอทัวร์ทะยานฟ้านำยานอวกาศแลดดีมุ่งสู่ดวงจันทร์จากฐานปล่อยจรวดในเวอร์จิเนีย (นาซา)

       ยานอวกาศลำใหม่ของนาซาทะยานฟ้ามุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์แล้ว โดยจะสำรวจชั้นบรรยากาศบางๆ และสภาพฝุ่นของบริวารโลก ตั้งเป้าไขปริศนาที่ค้างคามา 40 ปี
     
       แลดดี (Lunar Atmosphere and Dust Environment Explorer: LADEE) ยานสำรวจบรรยากาศและสภาพฝุ่นบนดวงจันทร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ทะยานฟ้าจากฐานปล่อยจรวดของสำนักอำนวยการบินวัลลอปส์ (Wallops Flight Facility) ในเวอร์จิเนียเมื่อเช้าวันที่ 7 ก.ย.2013 อย่างสวยงาม และองค์การอวกาศยืนยันการแยกตัวของยานอวกาศออกจากจรวดเป็นไปอย่างเรียบร้อย
     
       ริค เอลฟิค (Rick Elphic) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการแลดดีผู้ตื่นเต้นกับการปล่อยยานอวกาศครั้งนี้ เผยกับสเปซด็อทคอมก่อนการยิงจรวดว่า ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีในการพัฒนายานลำนี้ ซึ่งเป็นยานอวกาศที่คาดหวังได้ เพราะผ่านการทดสอบอย่างสมบูรณ์แบบ
     
       ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาทั้งทดสอบแลดดีด้วยการเขย่า แช่แข็ง นำเข้าห้องสุญญากาศ แต่ยานอวกาศก็ยังทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเอลฟิคให้ความเห็นว่ายานลำล่าสุดนี้เป็นยานอวกาศลำเล็ก แต่พวกเขาก็คาดหวังที่จะทำงานใหญ่ทางด้านวิทยาศาสตร์ด้วยยานอวกาศลำเล็กนี้
     
       แลดดีทะยานฟ้าไปกับจรวดไมนอทัวร์ 5 (Minotaur V) ซึ่งเป็นครั้งแรกของจรวดตระกูลนี้และฐานปล่อยในเวอร์จิเนียที่ได้รับหน้าที่ในการส่งยานอวกาศสู่ดวงจันทร์ ท่ามกลางฝูงชนที่มาชมการปล่อยจรวดครั้งนี้กว่า 1,100 คน


     
       ปฏิบัติการแลดดีมูลค่ากว่า 8,400 ล้านบาทนี้มีภารกิจขุดสำรวจฝุ่นและบรรยากาศดวงจันทร์ ซึ่งยานอวกาศได้ติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำคัญ 3 ชั้น ที่จะสำรวจชั้นบรรยากาศอันบางเบาของดวงจันทร์ และไขปริศนาอันลึกลับของฝุ่นดวงจันทร์ที่คาใจมาตั้งแต่ก่อนยุคอพอลโล (Apollo-era)




ภาพจินตนาการของศิลปินขณะยานแลดดีมุ่งหน้าสู่วงโคจรดวงจันทร์ (นาซา/สเปซด็อทคอม)

       ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อครั้งยานลงจอดเซอร์เวเยอร์ 7 (Surveyor 7) ถูกส่งขึ้นไปดวงจันทร์เมื่อปี 1968 ได้บันทึกว่ามีการเรืองแสงบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ขอบฟ้าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น และมนุษย์อวกาศในโครงการอพอลโลของนาซาก็ยังเห็นดวงจันทร์เรืองแสงเช่นกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อาจจะเป็นเพราะอนุภาคฝุ่นที่เล็กมากๆ ถูกยกสูงขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์
     
     

       40 ปีที่แล้วเรายังเชื่อว่าดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศ แต่ตอนนี้นาซากำลังส่งยานไปศึกษาชั้นบรรยากาศที่แสนบางเบาของเพื่อนบ้านและบริวารที่อยู่ใกล้เราที่สุด
     
     

     

     
       “ผมรักภารกิจนี้เพราะมีเรื่องสำคัญอยู่มากในภารกิจนี้ เราได้ศึกษาดวงจันทร์นี้มาอย่างครอบคลุมนับแต่มนุษย์อวกาศอพอลโลคนสุดท้ายได้จากที่นั่นมาเมื่อกว่า 40 ปีก่อน เมื่อเราจากดวงจันทร์มา เราคิดถึงมันในแง่พื้นผิวเก่าแก่ที่ปราศจากบรรยากาศ แต่จากนั้นเราก็ค้นพบว่าในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วดวงจันทร์ยังไม่ตายซากเสียทีเดียว และยังคงมีการเปลี่ยนแปลง ปฏิบัติการแลดดีนี้จะให้แนวคิดใหม่หมดเกี่ยวกับเพื่อนบ้านที่ใกล้เราที่สุด และผมก็ตื่นเต้นกับเรื่องนี้มาก” จอห์น กรันฟิล์ด (John Grunsfeld) ผู้ช่วยผู้อำนวยการนาซาฝ่ายกองอำนวยการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้ความเห็น



การปล่อยจรวดนำส่งแลดดีครั้งนี้หลายเมืองทางฝั่งตะวันออกของสหัฐฯ สามารถมองเห็นได้ ซึ่งภาพนี้บันทึกโดย เบน คูเปอร์ (Ben Cooper) จากชั้นบนสุดของศูนย์ร็อคกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Center) ในนิวยอร์กซิตี ขณะจรวดพาแลดดีทะยานฟ้า (สเปซไฟล์ทนาว)

     


ภาพร่างปรากฏการณ์เรืองแสงบนดวงจันทร์ของลูกเรืออพอลโล 17 (นาซา)

     

       นอกจากนี้แลดดียังติดตั้งการสื่อสารระบบเลเซอร์ ซึ่งจะทดสอบระบบสื่อสารดังกล่าวเมื่อเข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์ โดยเป็นระบบสื่อสารใหม่นี้จะทำให้ยานอวกาศส่งข้อมูลกลับลงมายังศูนย์ควบคุมปฏิบัติการบนภาคพื้นด้วยความเร็วระดับเดียวกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
     
       หลังจากทะยานฟ้าแล้วแลดดีจะโคจรรอบโลกเป็นเวลา 30 วัน เป็นวงโคจรรูปวงรีอยู่ 3 รอบก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ เมื่อยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว จะเป็นระยะของการทดสอบก่อนปฏิบัติการจริง ซึ่งการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีเลเซอร์จะเริ่มขึ้นในช่วงนี้ จากนั้นยานอวกาศจะปฏิบัติภารกิจไปอีก 100 วัน ก่อนที่เชื้อเพลิงจะหมด แล้วจึงพุ่งชรพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อจบภารกิจ


Source SPACE.com: All about our solar system, outer space and exploration.





ที่มา :  http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000112769
____________________
เครดิต :
________________________________

อ้างอิง :
________________________________
loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags: ,
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...