ภาพสเก็ตช์ของยานโรเวอร์รุ่น 2020 (สเปซด็อทคอม/นาซา)
เนื่องจากเป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐ “นาซา” จึงได้รับผลกระทบจากการ “ปิดหน่วยงานรัฐ” ของสหรัฐฯ ที่กำลังยืดเยื้ออยู่ แม้ยังมีเจ้าหน้าที่ยังทำงานเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์อวกาศอเมริกัน 2 คนในวงโคจร แต่แผนการส่งสร้างยานโรเวอร์ลำใหม่เพื่อลงไปลงดาวอังคารปี 2020 กำลังได้รับผลกระทบ
สเปซด็อทคอมรายงานว่า องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ต้องการแนวคิดจากนักวิทยาศาสตร์ในการสร้างยานโรเวอร์ (rover) สำหรับสำรวจดาวอังคาร โดยทางองค์การอวกาศได้เปิดรับข้อเสนอโครงการเกี่ยวกับเครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากนักวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างยานที่มีกำหนดส่งในปี 2020 นี้ แต่ “การปิดหน่วยงานรัฐ” ของสหรัฐฯ อาจให้การประกวดโครงการไม่เป็นไปตามแผน
การประกาศรับประกวดข้อเสนอโครงการนี้ได้ กำหนดให้นักวิจัยส่งแผนปฏิบัติการสร้างยานโรเวอร์ ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ การดำเนินภารกิจ การวิเคราะห์ข้อมูล และข้อมูลอื่นๆ เกียวกับการใช้ประโยชน์ยานโรเวอร์เพื่อสำรวจดาวอังคาร โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการศึกษาดาวอังคารในโครงการนี้มีงบประมาณ 3,900 ล้านบาท
ความคาดหวังสำหรับยานโรเวอร์สำรวจดาวอังคารรุ่นปี 2020 ของนาซาคือการสำรวจในสิ่งที่คล้ายๆ กับปฏิบัติการของคิวริออซิตี (Curiosity) ยานโรเวอร์ของนาซาลำปัจจุบันที่กำลังตะลอนไปบนพื้นผิวดาวอังคาร แต่มีสิ่งที่แตกต่างตรงที่นอกจากค้นหาสัญญาณของชีวิตในอดีตบนดาวอังคารแล้ว ยานโรเวอร์ลำใหม่ยังจะเก็บตัวอย่างกลับมายังโลกด้วย
สำหรับภารกิจเบื้องต้นของคิวริออซิตีคือการมุ่งประเมินว่า สิ่งมีชีวิตมีโอกาสดำรงอยู่บนดาวอังคารในอดีตหรือไม่ ซึ่งคำถามดังกล่าวก็ได้รับคำตอบไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อข้อมูลจากคิวริออซิตีชี้ว่า ดาวอังคารในอดีตนั้นเอื้อต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ (primitive life)
“ปฏิบัติการในปี 2020 จะต้องมีความสามารถจำเพาะเพื่อไขปัญหาหลักของสภาพที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งอาศัยและเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะ วิทยาศาสตร์ที่จะศึกษาด้วยเครื่องมือของยานโรเวอร์นั้น ต้องขยายองค์ความรู้ของเราเกี่ยวกับดาวอังคาร และให้ข้อมูลแวดล้อมที่จำเป็นต่อการตัดสินใจอย่างฉลาดในการนำตัวอย่างใดๆ กลับมายังโลก” สเปซด็อทคอมระบุคำแถลงของ จิม กรีน (Jim Green) ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์ระหว่างดาวเคราะห์ (Planetary Science Division) ของนาซาในวอชิงตัน ดีซี
อีกทั้งยานโรเวอร์ในรุ่น 2020 ยังต้องปูทางในการช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์สำหรับปฏิบัติการส่งคนไปดาวอังคารในอนาคต โดย เจสัน ครูสัน (Jason Crusan) ผู้อำนวยการสำนักระบบสำรวจชั้นแนวหน้า (Advanced Exploration Systems Division) ของนาซา แถลงว่า ยานมาร์สโรเวอร์จะต้องทดสอบเทคโนโลยีที่เป็นสำคัญต่อการสำรวจโดยมนุษย์บนดาวอังคารในวันข้างหน้า
“เทคโนโลยีใหม่จะต้องเอื้อให้มนุษย์อวกาศมีชีวิตอยู่ได้บนแผ่นดินเมื่อพวกเขาออกไปสำรวจหุบเขาโบราณของดาวอังคาร ต้องสามารถผลิตอากาศสำหรับหายใจ เชื้อเพลิงจรวด น้ำและอีกมาก ซึ่งอาจจะเปลี่ยนวิธีในการสำรวจอวกาศของเราไปตลอดกาล” ครูสันกล่าว
ทั้งนี้ ลูกจ้างของนาซา 600 คนจาก 18,000 คนยังคงทำงานต่อไปตามแผนรองรับการปิดหน่วยงานรัฐ ซึ่งยังมีหลายส่วนดำเนินการต่อไป เช่น เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมปฏิบัติการยังคงทำงานเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตของลูกเรืออเมริกันบนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือภารกิจค้นหาอุกกาบาตที่เป็นภัยของสำนักงานวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object Office) และเว็บไซต์ศูนย์คาดการณ์สภาพอวกาศ ขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐ (โนอา) ยังคงเปิดให้บริการ แม้เว็บไซต์หลายแห่งของรัฐบาลสหรัฐฯ จะปิดให้บริการ เป็นต้น
ที่มา : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000124448
____________________
loading...