ดวงอาทิตย์ปะทุรุนแรงระดับ X ต่อเนื่อง

<
<

ภาพการลุกจ้าระดับ X1.0 เมื่อ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา บันทึกโดยกล้อง SDO ที่ความยาวคลื่น 131 อังสตรอม (NASA/SDO)




เป็นไปตามที่คาดเมื่อเข้าสู่ปี 2013 ดวงอาทิตย์ของเราก็กลับมาตื่นตัวอีกครั้ง ทำให้เกิดการ “ลุกจ้า” ถี่ขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น และในช่วงเวลาไม่กี่วันนี้ดาวฤกษ์ของเราก็ปะทุรุนแรงระดับ X ซึ่งเป็นระดับรุนแรงที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง แต่นาซาระบุไม่ส่งผลกระทบต่สิ่งมีชีวิตบนโลก เพียงแต่หากรุนแรงพอก็อาจรบกวนสัญญาณสื่อสารผ่านดาวเทียมและจีพีเอส



สเปซด็อทคอมระบุว่า ในช่วงเวลาแค่ 3 วันดวงอาทิตย์ลุกจ้าถึงระดับ X เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 28 ต.ค.2013 ที่ผ่านมา โดยจัดให้อยู่ในระดับ X1.0 ซึ่งเป็นการปะทุจากจุดมืด AR1875 และหอดูดาวอวกาศโซลาร์ไดนามิคส์ (Solar Dynamics Observatory: SDO) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) จับภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวได้พอดี



ส่วนอีก 2 ครั้งเกิดขึ้นก่อนหน้าเมื่อวันที่ 25 ต.ค. โดยเป็นการปะทุจากจุดมืด AR1882 ที่ระดับ X2.7 และ X1.7 ตามลำดับ ขณะที่นาซาระบุว่า นับแต่ดวงอาทิตย์ปะทุใหญ่ครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่าน ถึงตอนนี้ดวงอาทิตย์ก็ปะทุในความรุนแรงระดับกลางและระดับรุนแรงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากการปะทุระดับ X แล้ว ยังมีการปะทุระดับ M อีกมากกว่า 15 ครั้ง



ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์แบ่งความรุนแรงของการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์เป็น 3 ระดับ คือ ระดับ C ซึ่งเป็นระดับอ่อนๆ ระดับ M เป็นพายุสุริยะที่พลังมากและทำให้เกิดแสงออโรราบนโลกได้ แต่ยังจัดเป็นแค่เหตุการณ์ระดับกลาง และระดับ X ซึ่งเป็นระดับรุนแรงสุดที่จะรบกวนการสื่อสารผ่านดาวเทียมและระบบนำทางผ่านดาวเทียม รวมถึงมนุษย์อวกาศในวงโคจรได้ หากการลุกจ้านั้นหันมายังโลกตรงๆ









นาซาระบุถึงความเสียหายจากการลุกจ้าระดับ X ในอดีตว่า เคยรบกวนหรือทำให้การสื่อสารผ่านวิทยุดับไปเป็นชั่วโมง และอธิบายด้วยว่า การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์นั้นเป็นการปะทุของรังสี แต่รังสีที่เป็นอันตรายเหล่านั้นไม่อาจทะลุผ่านชั้นบรรยากาศโลกลงมาทำร้ายคนบนพื้นโลกได้ แต่ถ้ารังสีมีความเข้มพอก็จะสามารถรบกวนชั้นบรรยากาศที่มีการสัญจรของสัญญาณสื่อสารและระบบนำทางผ่านดาวเทียมได้



การเพิ่มจำนวนของการลุกจ้าค่อนข้างเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงเวลานี้ เพราะดวงอาทิตย์กำลังเข้าสู่ช่วงคาบสูงสุดบนดวงอาทิตย์ (solar maximum) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรสุริยะที่มีรอบ 11 ปี โดยองค์การอวกาสสหรัฐฯ ระบุว่าเราเริ่มติดตามวัฏจักรสุริยะมาเรื่อยๆ นับแต่มีการค้นพบวัฏจักรนี้เมื่อปี 1843 และเป็นเรื่องปกติที่มีการลุกจ้าเป็นจำนวนมากระหว่างคาบสูงสุดของกิจกรรมบนดวงอาทิตย์



สำหรับวัฏจักรปัจจุบันคือวัฏจักรสุริยะที่ 24 (Solar Cycle 24) ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2008 แต่สเปซด็อทคอมระบุว่านักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามวัฏจักรนี้ ต่างพูดว่าแม้จะเกิดการลุกจ้าใหญ่ๆ หลายครั้ง แต่คาบสูงสุดของกิจกรรมบนดวงอาทิตย์นี้ก็ยังเงียบเหงาที่สุดในรอบ 100 ปี


ภาพการลุกจ้าเมื่อวันที่ 28 ต.ค.จากจุดมืด AR1875 (ขวา) โดยกล้อง SDO (NASA/SDO)


ที่มา : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000134979
____________________

loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags: ,
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...