10 อันดับ 'มหาธรณีพิบัติ' ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

<
<

ภัยพิบัติทางธรรมชาติบนโลกนี้มีหลายประเภท ทั้งอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย แต่ที่ร้ายแรงและสร้างความเสียหายมากที่สุดนั้น เห็นจะเป็นเหตุ ''ธรณีพิบัติ'' หรือแผ่นดินไหว นับจากอดีตกาล แผ่นดินไหวเคยเกิดขึ้นมาบนโลกนี้นับครั้งไม่ถ้วน สร้างความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อโลกมากมาย ทั้งยังไม่อาจทำนายได้ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อใดอีกด้วย...



นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา จึงกำหนดเกณฑ์การวัดขนาดของแผ่นดินไหว เพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งระดับความรุนแรง และคาดการณ์ความเสียหาย รวมถึงผลที่อาจตามมาจากแผ่นดินไหวไว้หลายรูปแบบ ทั้งมาตราริกเตอร์ มาตราแคลลี และที่ใช้มากที่สุดในปัจจุบัน คือ มาตราระดับแมคนิจูด และบันทึกเก็บไว้เป็นสถิติ โดยแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุด 10 อันดับ ที่มนุษยชาติเคยพบเจอ มีดังนี้


อันดับที่ 10
แผ่นดินไหวที่เมือง บัลปาไรโซ ประเทศชิลี ปี 1730



ภาพวาด เมืองบัลปาไรโซ ปี 1730

เกิดเมื่อเวลา 04.45 น. ของวันที่ 8 ก.ค. 1730 มีขนาดแรงสั่นสะเทือนที่ระดับ 9.0 ก่อนปรับลดลงมาเหลือ 8.75 ในภายหลัง แผ่นดินไหวครั้งนี้ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงถึง 16 ม. ตลอดแนวชายฝั่งของประเทศชิลี กินระยะทางกว่า 1,000 กม. จนทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ตอนล่างของเมืองบัลปาไรโซ เมืองท่าสำคัญ(ในปัจจุบัน)ของประเทศชิลี นอกจากนี้ คลื่นสึนามิยังเดินทางไปถึงเมืองคัลเลาของประเทศเปรู และทำให้เกิดน้ำท่วมที่จังหวัดริคุเซน และคาบสมุทรโอชิคะ ของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย


จุดเกิดแผ่นดินไหว

ในด้านของความเสียหาย สิ่งก่อสร้างในเมืองบัลปาไรโซ โคควิมโบ อิลลาเปล เปตอร์กา และเมืองทิลทิล ของชิลี ล้วนได้รับความเสียหายทั้งหมด แต่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เพียงไม่กี่รายเท่านั้น เนื่องจากเกิดฟอร์ช็อก (แผ่นดินไหวที่เกิดก่อนแผ่นดินไหวขนาดใหญ่) ขึ้นมาก่อน ทำให้ประชาชนหนีออกมาจากอาคารที่พักอาศัยได้เร็ว ทำให้รอดพ้นจากการถล่มของอาคาร รวมถึงประชาชนยังเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลที่ลดต่ำลงมาก จึงพากันหลบหนีขึ้นสู่ที่สูง และรอดพ้นจากคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาได้

อันดับที่ 9
แผ่นดินไหวที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกคาสคาเดีย สหรัฐอเมริกา ปี 1700


ภาพจำลองสึนามิที่เกิดขึ้น

จากหลักฐานที่ผู้เชี่ยวชาญได้มา ทำให้เชื่อว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 26 ม.ค. ปี 1700 ที่แนวเขตมุดตัวของเปลือกโลกคาสคาเดีย ของสหรัฐอเมริกา วัดขนาดของแผ่นดินไหว ได้ที่ 8.7-9.2 แผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก และแผ่นฮวน เด ฟูกา แยกออกจากกันเป็นแนวยาวกว่า 1,000 กม. หรือเทียบเท่ากับระยะจากพื้นที่ตอนกลางของเกาะแวนคูเวอร์ของแคนาดาขึ้นไป จนถึงพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้แผ่นฮวน เด ฟูกา เคลื่อนมุดลงไปใต้แผ่นอเมริกาเหนือถึง 20 เมตร จนเกิดเป็นแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์ สึนามิ ซึ่งเดินทางไปถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย


ภาพจำลองการเกิดแผ่นดินไหว

อย่างไรก็ดี ในอดีตไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งนี้ไว้มากนัก รวมถึงผลกระทบของคลื่นสึนามิที่มีต่อภูมิภาคอื่นที่ได้รับผลกระทบ โดยหลักฐานที่ว่าเคยเกิดแผ่นดินไหว และเกิดคลื่นสึนามิถึงประเทศญี่ปุ่นนั้น มาจากการศึกษาทฤษฎีกาลานุกรมต้นไม้ หรือการหาอายุ ด้วยการวิเคราะห์วงการเติบโตของต้นไม้ และพบว่า วงเติบโตวงสุดท้ายของของต้นไม้ที่ตายตามแนวป่าชายฝั่ง ซึ่งอยู่ในเขต ได้รับผลกระทบของสึนามิ ล้วนเกิดขึ้นในปี 1699

อันดับที่ 8
แผ่นดินไหวที่ชิลี ปี 2010





ชิลี 2010

อีกหนึ่งแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดของประเทศเทศชิลี เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2010 เมื่อเวลา 03.34 น. ตามเวลาของชิลี วัดขนาดความรุนแรงได้ที่ระดับ 8.8 ที่ความลึก 35 กม. และอยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศชิลีเพียง 3 กม. แผ่นดินไหวครั้งนี้สั่นสะเทือนอยู่นานกว่า 3 นาที โดยประชาชนชาวชิลีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ รวมถึงในบางพื้นที่ของประเทศอาร์เจนตินา อย่างกรุงบัวโนสไอเรส หรือเมืองคอร์โดบา รวมถึงที่เมืองไอคาทางตอนใต้ของประเทศเปรูด้วย


แผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้เกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มตามแนวชายฝั่งทางใต้ของชิลี มีการเตือนภัยแผ่นดินไหวใน 53 ประเทศ ขณะที่คลื่นยักษ์ได้สร้างความเสียหายแก่การประมงของญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่ากว่า 66.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนความเสียหายในประเทศชิลี ซึ่งเป็นจุดเกิดแผ่นดินไหว เกิดเหตุไฟฟ้าดับขึ้นในพื้นที่กว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ จนรัฐบาลต้องประกาศเป็นภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน และส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยเหลือยังพื้นที่ประสบภัย

จากข้อมูลของสำนักงานภัยพิบัติแห่งชาติของชิลี ระบุว่า มีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติในครั้งนี้กว่า 3.7 แสนหลัง มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 525 ราย ขณะที่ยังมีผู้สูญหายอีก 25 คน

อันดับที่ 7
แผ่นดินไหวที่เอกวาดอร์-โคลอมเบีย ปี 1906


เอกวาดอร์-โคลอมเบีย ปี 1906

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ปี 1906 ที่บริเวณนอกชายฝั่งของประเทศเอกวาดอร์ ใกล้กับเมืองเอสเมอรัลดาส์ สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนได้ที่ระดับ 8.8 โดยต้นตอของแผ่นดินไหวในครั้งน้ี เกิดจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกแนซกา เข้าสู่แผ่นอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากการดันตัวของเปลือกโลก

ในส่วนของความเสียหาย ไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวโดยตรง หากแต่เป็นคลื่นยักษ์สึนามิ ที่ก่อตัวจนมีความสูงกว่า 5 เมตร ซัดเข้าสู่พื้นที่เมือง ริโอ เวอร์ดี ของเอกวาดอร์ และที่เมืองไมคาย ของโคลอมเบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 ถึง 1,500 ราย



อันดับที่ 6
แผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ปี 1833



จุดเกิดแผ่นดินไหว

ในวันที่ 25 พ.ย. ปี 1833 เวลาประมาณ 22.00 น. ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นที่นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วัดขนาดแรงสั่นสะเทือนได้ที่ 8.8-9.2 เนื่องจากข้อมูลไม่ชัดเจน แต่จากหลักฐานทางธรรมชาติจากเกาะวงแหวนปะการัง (แอทอล:atoll) ทำให้สรุปได้ว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นจริง

ที่เมืองเบงกูลู สามารถรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนนานถึง 5 นาที ขณะที่เมืองปาดัง รู้สึกได้นาน 3 นาที โดยจากหลักฐานที่รวบรวมมา ชี้ว่าเกิดแผ่นดินแยกขนาดใหญ่ขึ้นในภูมิภาคดังกล่าวด้วย ขณะที่ข้อมูลความเสียหายอื่นๆ เช่น ความเสียหายของสิ่งก่อสร้าง หรือจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไม่ถูกบันทึกเอาไว้ ทราบแต่ว่ามีความเสียหายจำนวนมหาศาลเท่านั้น

อันดับที่ 5
แผ่นดินไหวที่คาบสมุทรโตโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ปี 2011



สึนามิที่ญี่ปุ่น

แผ่นดินไหว ซึ่งถือว่าสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศญี่ปุ่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ นอกจากจะต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระดับ 9.0 แล้ว ยังต้องเจอกับคลื่นยักษ์สึนามิ ที่มีความสูงกว่า 40.5 ม. เข้าเล่นงานในพื้นที่ชายฝั่งทางตะวันออกอีก โดยคลื่นซัดขึ้นมาบนชายฝั่งเป็นระยะทางกว่า 10 กม. สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล อันนำไปสู่เหตุเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิ ที่ยังแก้ปัญหาไม่ตกมาจนถึงปัจจุบัน


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิ

ความเสียหายจากทั้งแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ และวิกฤตการณ์กัมมันตภาพรังสีรั่วไหล ที่ประดังเข้ามาพร้อมกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น จำนวน 15,842 ราย บาดเจ็บ 5,890 คน และสูญหายกว่า 3,485 ชีวิต บ้านเรือนพังเสียหาย หรือพังทลายกว่า 1.25 แสนอาคาร

ธนาคารโลกประเมินค่าความเสียหายจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ที่ 2.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7.35 ล้านล้านบาท) ทำให้เหตุการณ์นี้เป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ามากที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้ แต่ที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือ แผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้เกาะฮอนชูของญี่ปุ่น เคลื่อนตัวไปทางตะวันออก ประมาณ 2.4 ม. และยังส่งผลให้แกนโลกเปลี่ยนไปจากเดิมถึง 10-25 ซม. อีกด้วย


จังหวัดอิวาเตะ


อันดับที่ 4
แผ่นดินไหวที่คาบสมุทรคัมชัตกา ประเทศรัสเซีย ปี 1952




เกิดเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ปี 1952 เวลา 04.58 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรคัมชัตกา ประเทศรัสเซีย โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้ทะเลราว 30 กม. วัดขนาดความสั่นสะเทือนได้ที่ 8.2 ก่อนที่จะปรับเป็น 9.0 ในปีต่อมา สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ในภูมิภาคคัมชัตกา และเกาะคูริล

คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีความสูงกว่า 9 ม. และเดินทางไปถึงรัฐฮาวายของอเมริกา สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ในขณะนั้น) ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว นอกจากนี้ยังเคลื่อนตัวไปถึงรัฐอะลาสกา ชิลี นิวซีแลนด์อีกด้วย



จุดเกิดแผ่นดินไหวรัสเซีย





อันดับที่ 3
แผ่นดินไหวที่มหาสมุทรอินเดีย ปี 2004




หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในชื่อแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันที่เกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. พ.ศ. 2549 ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดเข้าใส่พื้นที่ภาคใต้ของไทย และสร้างความเสียหายอย่างมาก นับเป็นเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่ประชาชนคนไทยไม่มีวันลืม

แผ่นดินไหวมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วัดขนาดของแผ่นดินไหวได้ที่ระดับ 9.1-9.3 ที่ความลึกราว 30 กม. และสั่นไหวต่อเนื่องนานถึง 8-10 นาที ด้วยความรุนแรงขนาดนี้ ทำให้แผ่นดินบนโลก เคลื่อนตัวไปจากจุดเดิมถึง 1 ซม. และยังก่อให้เกิดแผ่นดินไหวอื่นๆตามมาในหลายๆแห่งทั่วโลก



สำนักสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ(ยูเอสจีเอส) เผยว่า ยอดผู้เสียชีวิต(ที่ได้รับการยืนยัน)ทั้งหมด จากแผ่นดินไหวและสึนามิในครั้งนี้ ทั้งสิ้น 227,898 ราย โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด มีผู้เสียชีวิตถึง 1.7 แสนราย และสึนามิยังสร้างความเสียหายตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ที่ห่างออกไปกว่า 8 พัน กม.ด้วย ขณะที่ไทยเองก็มีผู้เสียชีวิต(ตามรายงานของยูเอสจีเอส) ถึง 8,212 ราย

หลังจากเกิดเหตุ นานาประเทศ ทั้งออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐฯและอื่นๆ ต่างระดมเงิน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประเทศที่ได้รับความเสียหายจากหายนะครั้งนี้ โดยระดมทุนได้ถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ในขณะนั้น)ทีเดียว


ประเทศที่ได้รับผลกระทบ(สีเหลือง)





อันดับที่ 2
แผ่นดินไหวที่อะลาสกา สหรัฐอเมริกา ปี 1964


หรืออีกชื่อหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักคือ แผ่นดินไหววันกูดฟรายเดย์(วันศุกร์ก่อนวันอีสเตอร์) เกิดเมื่อเวลา 05.36 น. ของวันที่ 27 มี.ค. 1964 บริเวณตอนใต้ของรัฐอะลาสกา มีความลึกเพียง 14 กม. วัดระดับการสั่นสะเทือนได้ที่ระดับ 9.2 และสั่นสะเทือนอยู่นานเกือบ 4 นาที นับเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯและทวีปอเมริกาเหนือทีเดียว

มหันตภัยครั้งนี้ ทำให้อาคารส่วนใหญ่ในพื้นที่ตอนล่างของรัฐอะลาสกาพังทลายไม่เหลือ ซ้ำยังเกิดแผ่นดินแยกและดินถล่มในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่เขตปกครองตนเองแองเคอเรจ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทั้งอาคาร สิ่งก่อสร้าง ถนน ท่อประปา ท่อระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ล้วนพังเสียหายทั้งหมด



จากการประเมินของสหรัฐฯ ความเสียหายครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หรือเท่ากับ 2.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน) อย่างไรก็ดี มีรายงานผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 143 รายเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก หากเทียบกับความพินาศที่เกิดขึ้น


อันดับที่ 1
แผ่นดินไหวที่บัลดิเบีย ประเทศชิลี ปี 1960



และแล้วก็มาถึงแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เท่ามีเคยมาการบันทึกสถิติเป็นต้นมา หายนะในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 1960 มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลูมาโค ของจังหวัดมอลเลโค ที่ความลึก 33 กม. วัดขนาดของแผ่นดินไหวได้ที่ระดับ 9.5 (สูงสุดคือ 10.0) ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงถึง 25 ม. เคลื่อนตัวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงมลรัฐฮาวายของสหรัฐฯ ซึ่งห่างจากจุดเกิดเเผ่นดินไหว ถึง 1 หมื่น กม. โดยคลื่นยังคงสูงอยู่ที่ระดับ 10.7 ม.

อาณาเขตการทำลายล้างของแผ่นดินไหว กินพื้นที่ถึง 4 แสน ตร.กม. โดยบัลดิเบีย เมืองหลวงของชิลีในขณะนั้น เป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด อาคารบ้านเรือนกว่า 40 เปอร์เซ็นต์พังทลาย ขณะที่สิ่งก่อสร้างที่ทำจากคอนกรีตเกือบทั้งหมดได้รับความเสียหาย ทำให้ประชาชนกว่า 2 หมื่นชีวิต กลายเป็นผู้ไร้บ้าน



ไม่เพียงเท่านี้ แผ่นดินไหวยังทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 ม. จนเกิดน้ำท่วมหนักกระทบผู้คนราวหนึ่งแสนราย และยังเป็นการกระตุ้นให้ภูเขาไฟคอร์ดัน เคาเล ระเบิดในวันที่ 24 พ.ค. พ่นเถ้าภูเขาไฟขึ้นสู่ท้องฟ้า สูงกว่า 5.5 กม. และปะทุต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงวันที่ 22 ก.ค. แต่เคราะห์ดี ที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

จำนวนผู้เสียชีวิต และมูลค่าความเสียหาย ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากในยุคนี้ยังไม่มีการกระจายข่าวสารเรื่องของภัยพิบัติ แต่ยูเอสจีเอส ออกมาระบุผลการวิเคราะห์ว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตราว 2,231-6,000 ราย ส่วนในด้านมูลค่าความเสียหายเนื่องจากข้อมูลที่ได้มาไม่ตรงกัน จึงกำหนดขอบเขตไว้คร่าวๆ ที่ 400 ล้าน-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.9 พันล้าน-5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบัน)

ทั้งหมดคือแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดเท่าที่โลกเคยพบมา จริงอยู่ว่า การเกิดแผ่นดินไหวนั้นไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่อย่างไรก็ดี มนุษย์สามารถเรียนรู้จากอดีต และปรับตัวเพื่อรับมือกับหายนะที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้าได้.








ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/oversea/225103
____________________
เครดิต :
________________________________
loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags:
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...