ยานสำรวจดาวอังคารคิวเรียสิตี (Curiosity) ทะยานฟ้าจากศูนย์การบินอวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ฟลอริดา สหรัฐฯ ไปพร้อมกับจรวดแอตลาส 5 (Atlas 5) เมื่อเวลา 22.02 น. วันที่ 26 พ.ย.11 ตามเวลาประเทศไทย มุ่งหน้าสู่ดาวอังคารเพื่อสำรวจดาวเคราะห์เพื่อนบ้านดังกล่าว โดยเอพีระบุว่า ยานค้นหาหลักฐานสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารนี้จะใช้เวลา 8 เดือนครึ่ง เดินทางกว่า 570 ล้านกิโลเมตร ซึ่งมีผู้คน 13,000 คนมารอชมการส่งยานอวกาศสู่ดาวเคราะห์เพื่อนบ้านครั้งแรกในรอบ 4 ปี และเป็นครั้งแรกใน 8 ปีของการส่งยานไปลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร
สำรวจยานลำใหม่ขององค์การบริหารการบินอวกาศสรัฐฯ (นาซา) ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่ายานห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ดาวอังคาร (Mars Science Laboratory) หรือยานเอ็มเอสแอล (MSL) นี้ มีขนาดพอๆ กับรถยนต์คันหนึ่งและหนักถึง 1 ตัน และยังมีแหล่งกำเนิดพลังงานนิวเคลียร์แบบเคลื่อนที่ พร้อมกับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ 10 อย่าง ซึ่งจะเก็บตัวอย่างดินและหินดาวอังคาร แล้ววิเคราะห์ตัวอย่าง ณ จุดนั้นได้ และยังมีเครื่องเจาะหินเลเซอร์ด้วย
เป้าหมายหลักของยานช่างสงสัยคือการสำรวจว่าดาวอังคารที่ทั้งแห้งแล้ง กันดารและเหน็บหนาวนี้เคยเป็นแหล่งดำรงชีวิตของจุลินทรีย์มาก่อนหรือไม่ หรือกระทั่งว่ามีแนวโน้มที่จะก่อเกิดสิ่งมีชีวิตหรือไม่ แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีเครื่องตรวจสอบการมีสิ่งมีชีวิตโดยตรง แต่ยานจะติดตั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ตามล่าหาองค์ประกอบทางอินทรีย์แทน
ทางด้านสเปซด็อทคอมรายงานว่า คิวเรียสซิตีนั้นหนักกว่ายานสำรวจดาวอังคาร 2 ลำเก่าที่ส่งไปก่อนหน้าถึง 5 เท่า โดยนาซาได้ส่งยานสปิริต (Spirit) และยานออพพอร์จูนิตี (Opportunity) ที่มีขนาดประมาณรถกอล์ฟไปเมื่อปี 2004 เพื่อค้นหาสัญญาณของน้ำในอดีต ซึ่งยานรุ่นพี่ทั้งสองมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ติดไปเพียงลำละ 5 อย่างเท่านั้น
ส่วนหนึ่งของเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ติดไปบนยานคิวเรียสซิตีคือแขนกลยาว 2.1 เมตรที่ข้อต่อถึง 5 ข้อต่อ ซึ่งเฉพาะอุปกรณ์ชิ้นนี้ก็มีน้ำหนักพอๆ กับยานสปิริตหรือออพพอร์จูนิตีแล้ว โดยสเปซด็อทคอมอ้างคำกล่าวของนักวิจัยนาซาว่าแขนกลดังกล่าวมีเครื่องเจาะกว้าง 5 เซนติเมตร สำหรับช่วยยานเก็บตัวอย่างที่อยู่ลึกลงไปในหินดาวอังคารได้ ซึ่งยานสำรวจดาวอังคารก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้
“เรามียานท่องสำรวจที่น่าทึ่ง มันเป็นยานสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและมีความสามารถมากที่สุดเท่าที่เราเคยส่งยานไปลงพื้นผิวดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ” แอชวิน วาสาวาสา (Ashwin Vasavada) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการยานเอ็มเอสแอลจากห้องปฏิบัติการจรวจขับเคลื่อนความดัน (JPL) ของนาซาให้ความเห็น
ทั้งนี้ ยานคิวเรียสซิตีหรือเอ็มเอสแอลนี้มีกำหนดไปลงจอดบนดาวอังคารในต้นเดือน ส.ค.12 โดยจะแตะพื้นผิวดาวแดงที่ตำแหน่งห่างจากหลุมอุกกาบาตเกล (Gale) 160 กิโลเมตร และจะสำรวจชั้นดิน 5 กิโลเมตรจากหลุมดังกล่าว ที่เก็บข้อมูลของดาวอังคารประมาณ 1 พันล้านปีไว้ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมของดาวอังคารทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งศักยภาพในการเป็นแหล่งดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต
การส่งยานสำรวจดาวอังคารลำล่าสุดขึ้นสู่อวกาศนี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่การลงจอดของยานจะน่าตื่นเต้นยิ่งกว่า และหากทุกอย่างไปได้สวยแล้วยังจะกลายเป็นอีกประวัติศาสตร์สำคัญด้วย โดยสเปซด็อทคอมอธิบายคร่าวๆ ว่า ปั้นจั่นลอยฟ้าจะค่อยๆ หย่อนยานลำยักษ์ด้วยสายเคเบิลลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งยังไม่มีทำมาก่อนในปฏิบัติการสำรวจดาวเคราะห์
ยานคิวเรียสซิตีที่มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำรวจธรณีวิทยาบนดาวแดงพร้อมสรรพ (นาซา)
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
____________________
เครดิต :
________________________________
loading...