ลุ้นพบ ‘ดาวเคราะห์ฝาแฝดโลก’

<
<




นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเราเพิ่มอีก 8 ดวง นาซาเผยสองดวงส่อลักษณะคล้ายโลก คาดอาจมีน้ำ หรือกระทั่งสิ่งมีชีวิต




เมื่อวันอังคาร เฟอร์กัล มัลลัลลี แห่งสถาบันเคปเลอร์ นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมประจำปีของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน ในเมืองซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน ว่า ดาวเคราะห์สองในแปดดวงที่เพิ่งค้นพบ โคจรห่างจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางในระยะห่างที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต



@ ภาพวาดแสดงดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ




สองดวงนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกมากกว่าดาวเคราะห์นอกระบบดวงใดๆ คาดว่ามีพื้นผิวเป็นหินแข็ง ลอยดวงใน “เขตโกลดิล็อก” ทำให้ทั้งสองดวงมีอุณหภูมิไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัด จึงเป็นไปได้ว่าจะมีน้ำ และอาจมีสิ่งมีชีวิต



“เราเข้าใกล้การค้นพบฝาแฝดของโลกเข้าไปทุกทีแล้ว ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะสองดวงนี้นับว่ามีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุดเท่าที่เคยพบ”



ดาวเคราะห์นอกระบบแปดดวงล่าสุดนี้ ค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ นับแต่ปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2552 กล้องเคปเลอร์ได้ส่องมองดาวฤกษ์แล้วกว่า 150,000 ดวง เพื่อค้นหาดาวเคราะห์อื่นๆนอกระบบสุริยะของเรา



ล่าสุด กล้องเคปเลอร์พบวัตถุที่รอการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นดาวเคราะห์รวม 4,175 ดวง หลังจากเพิ่งยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 1,000 ไปเมื่อเร็วๆนี้




@ นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา 8 ดวง ในจำนวนนี้ มี 2 ดวงคล้ายกับโลก



นาซาแถลงว่า ดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบเหล่านี้ มีสามดวงโคจรห่างจากดาวฤกษ์ในระยะที่เอื้อต่อการมีน้ำในสภาพของเหลวบนพื้นผิว โดยเฉพาะสองดวงนั้นมีเนื้อสารเป็นหินเหมือนกับโลก



ดวงแรกมีชื่อว่า เคปเลอร์-438บี อยู่ห่างจากโลก 470 ปีแสง โคจรรอบดาวฤกษ์ทุกๆ 35 วัน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าโลก 12% มีโอกาส 70% ที่จะมีเนื้อเป็นหิน



ดวงที่สอง เรียกว่า เคปเลอร์-442บี อยู่ห่างออกไป 1,100 ปีแสง มีคาบการโคจร 112 วัน มีขนาดใหญ่กว่าโลกราวหนึ่งในสาม และมีโอกาสสามในห้าที่จะมีมวลเป็นหิน



เดวิด คิปปิง นักวิจัยร่วม ศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน บอกว่า ด้วยเหตุที่ดาวเคราะห์เหล่านี้อยู่ห่างไกล จึงยากที่จะยืนยันได้ชัดเจนแน่นอนว่า ดาวเคราะห์ทั้งสองมีสภาพเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่ แต่พูดได้ว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นเช่นนั้น.


ที่มา :http://news.voicetv.co.th/world/151986.html
____________________

loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags: , ,
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...