ขุดพบ “ปฏิทินมายา” เก่าแก่ที่สุดแต่ไม่ระบุโลกดับปี 2012

<
<






ภาพปฏิทินรอบยาว (Long Count) ของชาวมายาที่เพิ่งขุดพบ ซึ่งแสดงจำนวนวันเป็นคอลัมน์ บางคอลัมน์ยังนับต่อจากนี้ไปได้อีก 7,000 ปี (ภาพประกอบทั้งหมดจากเนชันนัลจีโอกราฟิก)


นักโบราณคดีขุดพบ “ปฏิทินมายา” เก่าแก่ที่สุด วาดระบายบนผนังซากอาคารของอาณาจักรที่ล่มสลายในป่าฝนของกัวเตมาลา ชี้ไม่ใช่การนับถอยหลังวันสิ้นโลกแต่เป็นปฏิทินดาราศาสตร์และพิธีกรรมรักษาเวลาของเผ่าพันธุ์มายาโบราณ



ภาพวาดขึ้นใหม่จากภาพอาลักษณ์ที่พบในห้องโถงของชาวมายา



รายงานจากเนเจอร์ (Nature) ระบุว่า ปฏิทินมายาที่เก่าแก่ที่สุดนี้ถูกพบอยู่ใต้กองเนินที่ลึกเข้าไปในป่าฝนของกัวเตมาลา ปฏิทินดังกล่าวเป็นภาพวาดที่ระบายบนผนังในห้องโถงเล็กๆ ซึ่งมีรายละเอียดทั้งวันเวลา ตาราง และภาพที่บรรยายถึงเทพเห่งจันทรา ทั้งนี้ เป็นการค้นพบของคณะสำรวจเมืองมายาแห่งซุลตัน (Xultan) ซึ่งเป็นเมืองที่เคยรุ่งเรืองเมื่อ 1,200 ปีมาแล้ว และเป็นช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับอายุของจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าว


ภาพวาดบุคคล 3 แบบ (ซ้าย) ภาพวาดชายสีดำซึ่งต้นฉบับมีภาพชายสีดำ 3 ภาพ เป็นภาพชาวมายาที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน ส่วนชายตรงกลางภาพคาดว่าเป็นอาลักษณ์ที่ถือแปรงระบายภาพ และขวาคือกษัตริย์ชาวมายา

เดวิด สจ็วต (David Stuart) นักมานุษวิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสในออสติน (University Texas in Austin) และผู้ร่วมศึกษาภาพวาดปฏิทินมายา กล่าวว่าห้องที่ถูกค้นพบปฏิทินมายานั้นน่าจะเป็นสถานที่ทำงานของนักบวช อาลักษณ์ หรือนักดาราศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาค้นพบนั้นก็คล้ายกระดานดำสำหรับจดงานในห้องทำงานของนักฟิสิกส์หรือนักคณิตศาสตร์

ภาพชายสีดำ 3 คนที่พบในโถงของชาวมายาถูกนำมาวาดเลียนแบบใหม่ ซึ่งไม่เคยพบภาพบุคคลลักษณะเช่นนี้มาก่อน 


ตารางรายการที่พบบนฝาผนังนั้นคล้ายเอกสารเดรสเดนโคเดกซ์ (Dresden Codex) ของชาวมายาที่โด่งดัง ซึ่งทำขึ้นจากเปลือกไม้และมีอายุย้อนไปในช่วงยุคโพสต์คลาสสิคตอนปลาย (Late Postclassic) ของอารยธรรมมายาซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ.1300 โดยภาพวาดแห่งซุลตันนี้เป็นเพียงแหล่งอ้างอิงเดียวของข้อมูลด้านดาราศาสตร์จากยุคคลาสสิคมายา (Classic Maya) ตอนต้น ที่อยู่ในช่วง ค.ศ.250-900


ซาตุราโนขูดเอาเศษต่างๆ ออกจากภาพวาดในห้องโถงของชาวมายาที่เพิ่งค้นพบ 
แม้ว่านักโบราณคดีจะทำแผนที่ของเมืองซุลตันมาตั้งแต่ปีทศวรรษ 1920 และ 1970 แต่การสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2010 ซึ่ง บิล ซาตุราโน (Bill Saturno) นักโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) ผู้เป็นหัวหน้าทีมนำสำรวจและร่วมเขียนรายงานวิจัยลงวารสารไซน์ (Science) กล่าวว่า ในช่วงปีที่เว้นว่างไปนั้นบริเวณขุดสำรวจถูกปล้นสมบัติและทำลายลงไปมาก




ระหว่างการสำรวจเมื่อปี 2010 ศรีษะของ แมกซ์ แชมเบอร์เลน (Max Chamberlain) นักศึกษาของซาตุราโนได้ชนเข้ากับหลุมขุดค้นของนักปล้นสมบัติและพบผนังยื่นออกมา ซึ่งผนังดังกล่าวมีการระบายลายเส้นสีขาวและสีแดง ซาตุราโนจึงตัดสินใจขุดต่อไปอีก 30 เซนติเมตร และพบภาพวาดจิตรกรรมของหนึ่งในผู้ปกครองเมืองซุลตันนั่งบนบัลลังก์ในชุดที่มีเครื่องประดับคลุมศระษะเป็นขนนกสีน้ำเงินสดใส

ภาพกษัตริย์มายาซึ่งพบในห้องโถงที่นำมาวาดขึ้นใหม่

ซาตุราโนกล่าวว่า การได้พบภาพวาดที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างน่าทึ่ง เพราะปกติเราไม่น่าจะได้พบภาพวาดเช่นนี้เหลืออยู่เนื่องจากสภาพที่ไม่เอื้อต่อการเก็บรักษาในพื้นที่ลุ่มของป่าเขตร้อน เว้นแต่จะมีปัจจัยสภาพแวดล้อมที่พิเศษจริงๆ และการที่โครงสร้างของห้องดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินทุกวันนี้ประมาณ 1 เมตร ซึ่งช่วยปกป้องพื้นที่ดังกล่าวจากฤดูฝน แมลงและรุกล้ำของต้นไม้มานานกว่าพันปีได้

“เราพบผนัง 3 ใน 4 ของผนังห้องทั้งหมดที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ส่วนเพดานก็อยู่ในสภาพที่ดีด้วยเช่นกัน เมื่อมองในแง่ว่าภาพวาดยังอยู่ดี ดังนั้น เราจึงได้พบสิ่งที่แสนพิเศษกลับมามากกว่าสิ่งที่เราได้แลกไป” ซาตุราโนกล่าว


 
ทั้งนี้ ผนังด้านทิศเหนือมีตัวเลขเรียงกัน ส่วนผนังด้านทิศตะวันออกมีตารางตัวเลขมายา 27 คอลัมน์ ซึ่งเขียนด้วยสัญลักษณ์เป็นขีดและจุด แต่บางสัญลักษณ์ก็อยู่ในสภาพไม่ดีนัก ซึ่งเขาและคณะจะบูรณะใหม่ภายหลังด้วยพื้นความรู้เดิมเกี่ยวกับการคำนวณปฏิทินมายา โดยพวกเขาบันทึกภาพหลักฐานเกี่ยวกับผนังดังกล่าวในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่สามารถเก็บความรายละเอียดความแตกต่างระหว่างความมืดและความสว่างได้มากที่สุด


จากการวิเคราะห์ของสจ็วต ตาราง 27 นั้นแสดงถึงวัน โดยแต่ละคอลัมน์นั้นมีวัน 177 หรือ 178 วัน และด้านบนแต่ละคอลัมน์มีเทพแห่งจันทราองค์ต่างๆ โดยเป็นที่ทราบกันว่าชาวมายาได้บันทึกการโคจรของดวงจันทร์เป็นคาบ 177 และ 178 วัน และตารางบนผนังดังกล่าวก็คล้ายคลึงสูตรคูณที่สัมพันธ์กับตารางจันทรุปราคาในหนังสือเดรสเดนโคเดกซ์ ซึ่งเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นการคำนวณว่าเทพเจ้าองค์ไหนจะนำดวงจันทร์ไปวันไหน


ส่วนตารางของผนังทางทิศเหนือนั้นมีคอลัมน์ตัวเลข 4 คอลัมน์ แต่ละคอลัมน์แทนช่วงของวันที่จำเพาะเจาะจงตั้งแต่ 935 ปีจนถึง 6703 ปี ซึ่งจำนวนในคอลัมน์ทั้งสี่นั้นเป็นผลคูณของรอบปฏิทินมายา 52 ปี และอาจเป็นสิ่งแสดงถึงเหตุการณ์ที่มีการวนรอบใหม่ อย่างวัฏจักรของดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และอาจจะรวมถึงดาวพุธด้วย โดยนักวิจัยคาดว่าสถานที่ดังกล่าวน่าจะมีผู้รักษาปฏิทินซึ่งมีหน้าที่ประสานจำนวนที่สอดคล้องกันครั้งใหญ่ของเหตุการณ์บนท้องฟ้าที่ขับเคลื่อนโดยเอกภพ

ทางด้านเนชันนัลจีโอกราฟิกระบุว่า ปฏิทินมายาที่ทีมสำรวจค้นพบนั้นมีการคำนวณวันเวลาอีก 7,000 ปีข้างหน้า ซึ่งให้หลักฐานแย้งความคิดที่ว่า ชาวมายาเชื่อว่าโลกจะสิ้นสุดในปี 2012 อันเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนในยุคนี้ที่ได้แรงบันดาลจากปฏิทินโบราณ โดยซาตุราโนกล่าวว่า เขาและทีมก็พยายามค้นหาสิ่งที่บ่งชี้ถึงวันสิ้นโลก หากแต่ภาพจิตรกรรมที่พบนั้นชี้ว่าชาวมาพยายามค้นหาสิ่งที่จะรองรับได้ว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ด้านผู้เชี่ยวชาญคนอื่นนั้นกล่าวว่าการค้นพบนี้เป็นงานเชิงคณิตศาสตร์ที่อาจจะทำเพื่อคำนวณหาข้อมูลเชิงปฏิทินอย่างที่พบได้ในหนังสือเดรสเดนโคเดกซ์และแหล่งอื่น ซึ่ง ฮาร์เวย์ บริคเกอร์ (Harvey Bricker) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) และมหาวิทยาลัยทูเลนในลุยเซียนา (Tulane University in Louisiana) สหรัฐ ซึ่งไม่ได้ร่วมวิจัยด้วยกล่าวว่าอาจมีสถานที่อื่นคล้ายกันนี้อยู่อีก แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ห้องเช่นนี้ถูกค้นพบ











ที่มา : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000058542
____________________
เครดิต : สังขารไม่เที่ยง  http://board.palungjit.com
________________________________
loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags: ,
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...