ไขปริศนา หลอดไฟฟ้าของฟาโรห์

<
<

รูปหลอดไฟเดนเดราที่สองนักเขียนชาวออสเตรียและวิศวกรการ์นได้กล่าวอ้างว่าเป็นหลอดไฟโบราณ.



ถ้าจะกล่าวถึงสิ่งประดิษฐ์โบราณที่มีวิทยาการ ผิดยุคผิดสมัย ก็มีอยู่หลากหลายชนิด รวมทั้งภาพสลักอีกภาพหนึ่ง ที่สร้างความฉงนฉงายให้กับหลายๆท่านที่มีโอกาสพบเห็นได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือภาพ สลักรูป "หลอดไฟฟ้า" ในวิหารแห่งหนึ่งของชาวไอยคุปต์ ซึ่งถือว่าเก่าแก่กว่าหลอดไฟฟ้าของโทมัส อัลวา เอดิสัน ถึงกว่า 2,000 ปีเลยทีเดียว

วิหารที่มีจารึกแปลกประหลาดรูปหลอดไฟแห่งนี้ก็คือหนึ่งในวิหารที่ยังหลงเหลือความสมบูรณ์ที่สุดวิหารหนึ่งของอียิปต์โบราณ นั่นก็คือวิหารแห่งเดนเดรา (Dendera) มหาวิหารที่บูชาเทพีแห่งความรักอย่างเทพีฮาเธอร์ (Hathor) นั่นเอง

วิหารแห่งเดนเดรา ตั้งห่างออกมาทางตอนเหนือของเมืองลักซอร์ (Luxor) ประมาณ 70 กิโลเมตร ตัววิหารเดนเดราโดดเด่นด้วยเสาทรงเทพีฮาเธอร์ ประดับด้านหน้าถึง 6 เสา ด้านในมีห้องโถง ห้องเสาไฮโปสไตล์ ห้องบูชาด้านในอีกหลากหลายห้อง ที่สำคัญที่สุดก็คือห้องบูชาหลัก (Sanctuary) ของเทพีฮาเธอร์ ที่ประดิษฐานรูปปั้นรวมทั้งเรือศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในขบวนแห่อีกด้วย
และบริเวณด้านหลังของวิหารเดนเดราแห่งนี้นี่เองครับ ที่มีช่องทางเดินลงไปยังคูหาใต้ดิน (Crypt) ซึ่งมีภาพหลอดไฟสุดล้ำของชาวอียิปต์โบราณสลักเอาไว้!!



วิหารเดนเดราในมุมกว้าง ยังหลงเหลือความยิ่งใหญ่อยู่มาก.

จากหนังสือ "ดวงไฟแห่งฟาโรห์" (Lights of the Pharaohs) ของสองนักเขียนชาวออสเตรียได้กล่าวไว้ว่า ในภาพสลักรูปหลอดไฟนั้นประกอบไปด้วย ตัวนักบวชผู้ถือหลอดไฟที่มีส่วนประกอบของตัวหลอด พร้อมทั้งตัวปล่อยกระแสไฟฟ้าที่แสดงด้วยรูปงู ปลั๊กรูปดอกบัว ตามด้วยสายไฟ และไอโซเลเตอร์ 
(Isolator) ที่แสดงด้วยภาพเสาดีเจด (Djed Pillar) ด้านข้างยังมีเทพเจ้าถือมีด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ "ผู้นำแสงสว่าง" จารึกประดับไว้ด้วย ในภาพสลักยังมีภาพของเทพเจ้าในท่านั่ง แสดงถึงกระแสไฟฟ้า และมีภาพของตัวจ่ายพลังงานหรือที่เราเรียกกันว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) อีกด้วยครับ

เสาดีเจด Djed Pillar


นอกจากนั้น วิศวกรนาม ดับเบิลยู การ์น (W. Garn) ยังได้สนับสนุนแนวคิดนี้ แถมด้วยการวาดแผนโครงสร้างของหลอดไฟฟ้าจากภาพบนผนังของวิหารเดนเดราเสียด้วย สิครับ 
โดยเขาได้เสนอว่า หลอดไฟแห่งเดนเดรานี้ ถ้ามีแท่งโลหะ 2 ชิ้นที่สัมผัสกับแขนที่ชูขึ้นมาของเสาดีเจด ก็จะสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ 

แต่ก็ขึ้นกับขนาดของหลอดไฟด้วย ถ้าความดันภายในหลอดมีขนาดประมาณ 40 มิลลิเมตรปรอท เจ้างูในหลอดไฟที่ทำหน้าที่เป็นลวดที่ให้กระแสไฟฟ้าผ่าน ก็จะค่อยๆเลื้อยตัวออกไปเรื่อยๆ และสามารถสร้างแสงสว่างได้เพิ่มมากขึ้น เจ้างูลวดตัวนี้สามารถที่จะเลื้อยตัวออกไปได้ยาวมาก จนยาวเต็มหลอดไฟเลยทีเดียว ซึ่งนี่ก็คือหลักการในการให้แสงสว่างของหลอดไฟแห่งเดนเดรา จากมุมมองของวิศวกรอย่างการ์น


ด้านหน้าของวิหารเดนเดรา แสดงความยิ่งใหญ่และงดงามด้วยเสารูปเทพีฮาเธอร์ถึง 6 เสา.

แต่แนวคิดที่การ์นนำเสนอมา มันก็ยังขัดแย้งกันอยู่ในตัวของมันเอง เพราะถ้ามองที่ภาพหลอดไฟที่การ์นนำมาอ้างนั้น ภาพของเสาดีเจดชูแขนสองข้าง ที่เชื่อกันว่าทำหน้าที่เป็นไอโซเลเตอร์ ดูเหมือนว่าจะเข้าไปอยู่ด้านในของหลอดไฟ 

แต่แท้จริงแล้ว ภาพหลอดไฟแห่งเดนเดรานี้ มีถึง 6 หลอดครับ และอีก 5 หลอดที่เหลือ ก็จะเห็นได้ชัดว่าภาพของเสาดีเจดนั้น ไม่ได้เข้าไปในตัวหลอดแต่อย่างใด เพียงแต่ค้ำอยู่ด้านนอกเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่หลอดไฟ อีก 5 หลอดของเดนเดราจะสามารถทำงานได้ตามหลักการของการ์น

หลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า ภายในพีระมิด หรือสิ่งมหัศจรรย์หลายแห่งที่ชาวอียิปต์โบราณได้สร้างสรรค์ไว้ ไม่เคยพบเขม่าควันใดๆเลย แสดงว่าถึงแม้ว่าหลอดไฟแห่งเดนเดราจะไม่ได้หมายถึงหลอดไฟฟ้าจริงๆ แต่ชาวอียิปต์โบราณก็ควรจะต้องมีอุปกรณ์ให้แสงสว่างระหว่างการก่อสร้างด้วย แน่ๆ ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะสร้างหรือวาดภาพในที่มืดๆ โดยใช้ตะเกียงแบบไม่มีเขม่าได้ยังไงกัน

แท้จริงแล้วไม่ใช่ว่าตามสถาน ที่อย่างภายใน ห้องหับของพีระมิดจะไม่มีเขม่าอย่างที่หนังสือหรือแหล่งข้อมูลบางแห่งบอกไว้ นะครับ เขม่าควันนั้นมีเช่นกัน แต่เป็นผลมาจากคบไฟของเหล่าโจรปล้นสุสานในสมัยโบราณ รวมทั้งนักเดินทางที่ปรารถนาจะเข้าไปชมความอลังการภายในพีระมิดได้ทิ้งเอาไว้



ภาพคนถือสิ่งที่ดูคล้ายหลอดไฟ 2 หลอดจากวิหารเดนเดรา ยังมีสีดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ด้วย.

ตะเกียงและไส้ตะเกียงคือหลักฐานที่นักอียิปต์ วิทยาค้นพบจากหุบผากษัตริย์ (Valley of the Kings) ซึ่งบ่งบอกว่าชาวอียิปต์โบราณมีการใช้ตะเกียงในการให้แสงสว่างในการขุดเจาะและตกแต่งผนังสุสาน แต่เคล็ดลับในการลดควันหรือเขม่าจากตะเกียงของพวกเขานั้นก็ทำได้ง่ายดายมากครับ เพียงแค่ผสม "เกลือ" เล็กน้อยลงไปในน้ำมันตะเกียง เท่านี้ก็ไม่หลงเหลือเขม่าเกาะติดผนังมากนักแล้วครับ

ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่นักอียิปต์วิทยาค้นพบในห้องใต้ดินที่มีภาพหลอดไฟ ปริศนาก็คือ "เขม่าควัน" บริเวณภาพหลอดไฟพอดีครับ ดังนั้น ถ้าในช่วงการแกะสลักภาพหลอดไฟเดนเดรา ชาวอียิปต์ โบราณมีการใช้หลอดไฟรูปร่างเช่นนั้นในการให้ แสงสว่างจริงๆล่ะก็ ไม่น่าจะมีเขม่าควันหลงเหลืออยู่ในห้องนี้ เขม่าที่เห็นควรจะต้องเป็นควันจากการจุดตะเกียงในช่วงของการก่อสร้าง หรือไม่ก็เป็นเขม่าควันจากกลุ่มคนสมัยใหม่ ที่เข้ามาด้านในครับ

ถ้าไม่ใช่วิทยาการอันก้าวหน้าของชาวไอยคุปต์ แล้วหลอดไฟแห่งเดนเดรานี้มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ จารึกภาษาอียิปต์โบราณที่ประดับไว้เคียงข้างภาพหลอดไฟเหล่านี้มีคำตอบให้ ครับ



ภาพหนึ่งของหลอดไฟเดนเดรา จะพบว่าแขนของเทพฮีฮ์ที่ค้ำหลอดไฟอยู่นั้น ไม่ได้เข้าไปข้างในแต่อย่างใด.

จารึกในห้องใต้ดินแห่งนี้กล่าวถึงวัฏจักรการโคจรของดวงอาทิตย์ที่กำลังหมดเวลาในวันสุดท้ายของปีเก่าและเข้าสู่เช้าวันรุ่งขึ้นของปีใหม่ รวมทั้งการจัดงานพิธีกรรมเฉลิมฉลองแด่สุริยเทพ ซึ่งก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับหลอดไฟแต่อย่างใด

เริ่มแรกที่ภาพของงู ที่สองนักเขียนชาวออสเตรียกล่าวว่าเป็นลวดที่นำไฟฟ้า แต่ตำนานของชาวอียิปต์โบราณไม่มีตำนานใดกล่าวว่างูเกี่ยว ข้องกับไฟเลย ภาพวงรีที่เหมือนตัวหลอดไฟนั้น ณ ที่นี้มีความหมายถึงท้องฟ้า ยามรุ่งอรุณ และงูที่อยู่ด้าน ในก็คือเทพฮาร์ซัมตัส (Harsomtus) ซึ่งเป็นร่างหนึ่งของเทพฮอรัส เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์ ในยามรุ่งอรุณตามความเชื่อของชาวกรีก-โรมัน โดยที่พวกเขาจะแสดงภาพของเทพฮาร์ซัมตัสด้วยร่างของงูเสมอในช่วงหลัง 300 ปีก่อนคริสตกาลเป็นต้นมาครับ

นั่นก็เพราะงูจะมีการลอกคราบ ซึ่งชาวอียิปต์ โบราณมองว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็คล้ายกับพระอาทิตย์ที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ขึ้นมาทุกเช้าในแต่ละวันนั่นเอง




ภาพหลอดไฟอีกหลอดหนึ่ง ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าแขนของเสา ไม่ได้เข้าไปสัมผัสกับงูด้านในหลอดไฟเช่นกัน.

สำหรับ เสาที่เชื่อกันว่าเป็นไอโซเลเตอร์ นั้น นักอียิปต์วิทยายังไม่สามารถหาคำตอบที่แน่นอนได้ว่า มีความหมายว่าอย่างไร เพราะว่าโดยตัวของมันเองแล้ว เสาสามารถสื่อได้หลายความหมาย ไม่ว่าจะหมายถึงเสาโดยตรง หรือหมายถึงความมั่นคง เสถียรภาพ และหมายถึงสิ่งที่อยู่ไปจนนิรันดร์ก็ได้เช่นกัน ดังนั้น ด้วยความที่เสาได้ค้ำท้องฟ้ายามรุ่งอรุณ และบางภาพก็ได้ค้ำงูฮาร์ซัมตัส ที่เป็นตัวแทนของพระ อาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ก็อาจจะต้องการสื่อความหมายว่า สุริยเทพจะต้องเป็นผู้ที่คงอยู่ไปชั่วนิรันดร์ก็เป็นได้

มองลงมาด้านล่าง ที่เชื่อกันว่าเป็นสายไฟซึ่งต่อจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารูปเทพฮีฮ์มายังก้านดอกบัวที่เป็นปลั๊กนั้น แท้จริงแล้วเป็นภาพตัวแทนของเรือศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทพเจ้ามาก มายนั่งอยู่ คล้ายๆกับเรือที่ปรากฏในคัมภีร์ ต่างๆของชาวอียิปต์โบราณ และหลักฐานที่กล่าวว่าเส้นสายไฟนี้คือเรือแน่ๆ ก็คืออักขระที่จารึกประกอบภาพเอาไว้บนผนังครับ

ส่วนดอกบัว ก็คือดอกบัวตามที่เห็น ไม่ได้สื่อถึงปลั๊กไฟแต่อย่างใด สำหรับอีกด้านหนึ่งของเรือที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเทพฮีฮ์ ก็สื่อความหมายว่าเทพฮีฮ์ทรงค้ำจุนท้องฟ้ายามรุ่งอรุณ ด้วยความที่เทพฮีฮ์เกี่ยวข้องกับความเป็นนิรันดร์และเกี่ยวข้องกับจำนวนหนึ่งล้าน ทำให้เทพฮีฮ์สื่อความหมายคล้ายคลึงกับเสานั่นคือหมายถึงความเป็นนิรันดร์ของสุริยเทพ




รูปที่การ์นใช้ประกอบคำอธิบายหลักการทำงานของหลอดไฟเดนเดรา.

บรรดาสัญลักษณ์ต่างๆที่แสดงเป็นภาพหลอดไฟแห่งเดนเดรานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์พื้นฐานทางตำนานความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณทั้งสิ้น ที่ประกอบกันเพื่อสื่อความหมายและแสดงออกถึงพิธีกรรมการเดินทางเข้าสู่ปีใหม่ของสุริยเทพ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลอดไฟฟ้าแต่อย่างใด

แต่ถึงแม้ว่าชาวอียิปต์โบราณจะไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าถึงขั้นผลิตหลอดไฟฟ้าได้จริง แต่เราก็คงจะปฏิเสธกันไม่ได้ใช่ไหมครับว่า วิทยาการที่ชาวอียิปต์มีอยู่จริงนั้น ก็ก้าวหน้าและก้าวล้ำเสียจริงๆครับ

ถ้าท่านผู้อ่านชอบศึกษาและค้นหาความจริงจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็ติดตามได้ จากนิตยสารต่วย'ตูนพิเศษนะครับ มีเรื่องน่าสนใจทั้งจากอดีตและอนาคตมานำเสนอแบบเข้าใจง่าย อ่านสนุกกันทุกต้นเดือนครับ.


ที่มา : http://www.mythland.org/v3/thread-6099-1-1.html
____________________
เครดิต : ต่วยตูนพิเศษ neutron.rmutphysics.com
________________________________

loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags: , ,
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...