ไขปริศนาดาวอังคาร ตอนที่ 1

<
<

ในปี ค.ศ. 1976 เมื่อยานไวกิงได้ทำการโคจรสำรวจและถ่ายภาพดาวอังคารส่งกลับมายังโลกนั้น องค์การนาซาได้รับข้อมูลภาพกว่า 60,000 ภาพ และในภาพเหล่านั้นมีอยู่ภาพหนึ่งซึ่งเป็นภาพของดาวอังคารในแถบที่เรียกว่าไซโดเนีย (Cydonia) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของดาวอังคาร
ถ่ายจากระยะความสูงประมาณ 1,500 กม. ถ้าเทียบกับตำแหน่งที่ยานพาทไฟน์เดอร์ลงจอดก็จะอยู่เหนือขึ้นไปอีกนับพันกิโลเมตร ภาพนั้นเป็นภาพพื้นผิวดาวอังคารที่เต็มไปด้วยภูเขาและมีวัตถุประหลาดขนาดใหญ่ ดูแล้วคล้ายใบหน้าคน นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาได้เผยแพร่ภาพนี้แก่สาธารณชนเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องตลกที่บนดาวมีภูเขาที่สัณฐานละม้ายคล้ายใบหน้าคน แล้วก็ลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท เพราะภาพที่ส่งมาจากยานไวกิงมีจำนวนมากเหลือเกิน
ภาพการปล่อยจรวดซึ่งบรรจุยานไวกิง 2 เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1975

แต่ปรากฏว่านักวิทยาศาสตร์บางส่วนรวมทั้งผู้ที่สนใจค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกพิภพกลับไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องตลก ตรงกันข้าม กลับมีความเห็นว่าภาพใบหน้าลึกลับบนดาวอังคารนั้นไม่น่าจะเกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เป็นผลงานทางสถาปัตยกรรมมากกว่า ซึ่งนั่นก็หมายความว่าบนดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตที่มีวิทยาการสูงอาศัยอยู่!

ภาพใบหน้ายิ้มบนดาวอังคาร ภาพนี้เกิดจากปล่องภูเขาไฟ ที่บังเอิญดูคล้ายหน้าคนยิ้ม
นาซาเชื่อว่าภาพใบหน้าลึกลับก็คงเป็นเรื่องตลกทำนองเดียวกัน 


ในปี ค.ศ. 1979 วิศวกร 2 นายแห่งศูนย์อวกาศกอดดาร์ด สหรัฐอเมริกา คือ ดีเพียโตร (DiPietro) และมอลเลนนาร์ (Molenaar) ได้มาพบภาพดังกล่าวนี้อีกครั้งโดยบังเอิญ รวมทั้งยังพบภาพใบหน้าลึกลับที่ถ่ายด้วยทิศทางแสงอีกแบบหนึ่งที่ทำให้เห็นรายละเอียดได้มากขึ้น ทั้งสองจึงนำข้อมูลภาพถ่ายทั้ง 2 ภาพนี้ไปวิเคราะห์ ผลการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์เห็นได้อย่างชัดเจนว่าวัตถุลึกลับนั้นเป็นรูปทรงใบหน้า รวมทั้งยังได้พบโครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายพีระมิดเกาะกลุ่มกันอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของใบหน้าโดยอยู่ห่างออกไปราว 20 กิโลเมตรอีกด้วย ซึ่งต่อมาได้มีการตั้งชื่อสิ่งทีมีโครงสร้างคล้ายเป็นสถาปัตยกรรมนี้ กล่าวคือ ส่วนที่เป็นกลุ่มพีระมิดจะเรียกว่าเป็นเมือง (The City) ใกล้ๆกับเมืองเป็นโครงสร้างคล้ายพีระมิดห้าเหลี่ยมซึ่งเรียกว่า ป้อมปราการ (The Fortress) นอกจากนี้ยังมีพีระมิดที่อยู่ห่างออกไปอีก เรียกว่า พีระมิดดีและเอ็ม (D&M Pyramid) ซึ่งชื่อดีและเอ็มนี้มาจากชื่อของดีเพียโตรและมอลเลนนาร์นั่นเอง


ภาพใบหน้าลึกลับบนดาวอังคาร 2 ภาพที่วิศวกรแห่งศูนย์อวกาศกอดดาร์ดค้นพบและนำมาศึกษา 2 ภาพนี้ถ่ายคนละเวลากันจึงเห็นทิศทางแสงแตกต่างกันและทำให้เห็นรายละเอียดได้ไม่เท่ากัน


ภาพพื้นที่แถบไซโดเนีย จะเห็นวัตถุรูปทรงคล้ายสิ่งก่อสร้างหลายอย่างซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าน่าจะเคยมีสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรมและวิทยาการอันสูงส่งอาศัยอยู่ 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1986 คาร์ลอตโต นักวิจัยชาวอเมริกันได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายจากยานไวกิงซ้ำอีก แต่ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ใหม่ๆในการวิเคราะห์ซึ่งต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วย คาร์ลอตโตใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบแฟรกทัล (fractal) และพบว่า ใบหน้า ที่เห็นนั้นมีความกว้างถึง 2 กม. ยาว 2.5 กม. และมีความสูงจากพื้นผิวดาวอังคารถึง 400 เมตร จากการวิเคราะห์ คาร์ลอตโตได้พบร่องรอยของ ฟัน ในปากของใบหน้าลึกลับด้วย รวมทั้งจากการวิเคราะห์โครงสร้างของใบหน้าพบว่าใบหน้าซีกซ้ายและขวาสมมาตรกัน นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่เป็น ตาดำ ของใบหน้า นั่นแสดงว่าใบหน้านั้นไม่ใช่เกิดจากภูเขาที่โดนลมพายุพัดจนสึกกร่อนกอปรกับทิศทางแสงในการถ่ายภาพทำให้เห็นเป็นรูปร่างคล้ายใบหน้ามนุษย์อย่างที่นาซาเชื่อเป็นแน่ แต่เป็นสิ่งก่อสร้างของอารยธรรมบนโลกอื่น




ภาพใบหน้าที่เห็นร่องรอยของตาดำ ฟัน รวมทั้งใบหน้ายังมีสมมาตรระหว่างซีกซ้ายกับซีกขว


นอกจากนี้ คาร์ลอตโตยังเสนอวิธีวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายผิวดาวเคราะห์โดยใช้เทคนิคแฟรกทัลนี้เพื่อแยกแยะสิ่งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอีกด้วย ทั้งนี้ โดยมีสมมติฐานว่าสิ่งก่อสร้างนั้นจะมีลักษณะแตกต่างจากโครงสร้างตามธรรมชาติ เช่น มีเหลี่ยมมีมุม มีช่วงและจังหวะ มีสมมาตร ฯลฯ โครงสร้าง 2 ประเภทนี้เมื่อวิเคราะห์ด้วยเทคนิคแฟรกทัลแล้วจะให้ค่าการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายแถบไซโดเนีย คาร์ลอตโตพบว่ามีอยู่ 4 ตำแหน่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ นั่นคือ ตำแหน่งที่เป็นใบหน้าลึกลับ เมือง พื้นที่ใกล้เมือง และป้อมปราการ ส่วนพีระมิดดีและเอ็มนั้นไม่พบสิ่งผิดสังเกต


พื้นที่ 4 จุดที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามการวิเคราะห์ของคาร์ลอตโต

ภาพขยายบริเวณเมือง



ภาพ ก

ภาพ ข
ภาพ ค
ภาพ ง

ภาพแสดงการใช้เทคนิคทางแฟรกทัลในการวิเคราะห์หาโครงสร้างที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ บนพื้นผิวดาวเคราะห์ ภาพ ก เป็นภาพถ่ายทางอากาศ ในภาพนี้มีรถถังซ่อนอยู่ 4 คัน ภาพ ข เป็นการนำภาพมาแปลงโดยใช้วิธีทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่าแฟรกทัล ภาพ ค เป็นการปรับภาพให้สอดคล้องกับตัวแบบทางคณิตศาสตร์ที่กำหนดเพื่อแยกแยะว่าสิ่งใดน่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติและสิ่งใดเป็นสิ่งก่อสร้าง และภาพ ง เป็นผลจากการวิเคราะห์ พบว่ามีสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่ 4 ตำแหน่ง ซึ่งก็คือตำแหน่งที่ซ่อนรถถังไว้นั่นเอง








ที่มา : http://www.yupparaj.ac.th
____________________
เครดิต :
________________________________

Pageviews
loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags:
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...