ตะลึง ค้นพบ “ดาวคริปตัน” บ้านซูเปอร์แมน

<
<



ชาวโลกรู้จัก “ดาวคริปตัน” มายาวนาน ในฐานะบ้านของ “ซูเปอร์แมน” ฮีโร่จากเรื่องแต่งในจินตนาการ แต่ตอนนี้นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวดวงนั้นว่ามีอยู่จริงๆ และถ้ามีกล้องโทรทรรศน์ดีพอเราก็จะเห็นดาวบ้านเกิดฮีโร่ในทิศทางกลุ่มดาวนกกา

นีล เดอ กราสเซ ไทสัน (Neil deGrasse Tyson) ผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลองไฮเดน (Hayden Planetarium) ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน (American Museum of Natural History) ในนิวยอร์กซิตี สหรัฐฯ เผยว่าดาวเคราะห์ที่มีคริปตันเป็นองค์ประกอบทั้งดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 27.1 ปีแสง ในทิศทางทางตอนใต้ของกลุ่มดาวนกกา (Corvus)


ดาวคริปตันดังกล่าวโคจรรอบดาวแคระแดง (dwarf star) ชื่อ LHS 2520 ซึ่งหนาวเย็นและมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ซึ่งสเปซด็อทคอมระบุว่าไทสันเริ่มสืบหาดาวเคราะห์ดวงนี้ตามคำร้องขอของ “ดีซีคอมิกส์” (DC Comics) สำนักพิมพ์การ์ตูนที่ต้องการเดินเรื่องเกี่ยวกับการตามหาบ้านเกิดของซูเปอร์แมน และเขายังปรากฏในหน้าหนึ่งของการ์ตูนเล่มใหม่ด้วย (Action Comics Superman#14, ในชื่อตอน "Star Light, Star Bright") เพื่อให้คำปรึกษาแก่ฮีโร่

“ในฐานะเป็นคนของเมืองใหญ่แต่กำเนิด ผมยินดีอย่างยิ่งที่ได้ช่วยซูเปอร์แมน ซึ่งทอะไรตั้งมากมายให้แก่เมืองของผมมาตลอดหลายปี และชัดเจนมากว่าหากเขาไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่แล้ว เขาก็อาจจะทำอะไรอย่างนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ก็ได้” ไทสันกล่าว

ตามเรื่องแต่งซูเปอร์แมนเกิดที่ดาวคริปตัน แต่ถูกนำตัวมายังโลกตั้งแต่ยังเป็นทารกโดย จอร์-เอล (Jor-El) พ่อของเขาเอง ก่อนที่ดาวบ้านเกิดจะถูกทำลายไม่นาน หลังจากลงสู่เมืองแคนซัส ของสหรัฐฯ เขาก็ถูกเลี้ยงดูโดยชาวไร่และภรรยาคู่หนึ่งในฐานะมนุษย์ที่ชื่อ คลาร์ก เคนท์ (Clark Kent) และตอนนี้เขาก็จะได้ทราบเสียทีว่าเขามาจากดาวดวงไหน

*******************************

ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ต้องการส่องหา “ดาวคริปตัน” บนท้องฟ้ายามกลางคืน

ไรท์ แอสเซนชัน (Right Ascension) : 12 ชั่วโมง 10 นาที 5.77 วินาที
ดิคลิเนชัน (Declination) : -15 องศา 4 ลิปดา 17.9 ฟิลิปดา
โพรเพอร์โมชัน (Proper Motion) : เคลื่อนจากทิศเหนือที่ 172.94 องศาไปทิศใต้ 0.76 ฟิลิปดาต่อปี

*หมายเหตุ
ไรต์แอสเซนชัน (Right Ascension) เปรียบได้กับลองจิจูด (Longitude) ของโลกวัดเทียบจากจุดศูนย์ที่เรียกว่า วสันตวิษุวัต (Vernal equinox) โดยมีเส้นชั่วโมง 24 เส้น แต่ละเส้นห่างกันเป็นมุม 15 องศา (24 x 15° = 360°) โดยเส้นแรกเริ่มต้นที่จุดวสันตวิษุวัติในกลุ่มดาวปลา เส้นชั่วโมงถัดไปอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออก 15 องศา หน่วยของไรต์แอสเซนชันมีค่าเป็น ชั่วโมง นาที และวินาที และมีค่าระหว่าง 0 - 24 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละชั่วโมง (Hour) มี 60 นาที (Minute) แต่ละนาทีมี 60 วินาที (Second)

เดคลิเนชัน (Declination) เปรียบได้กับละติจูด (Latitude) วัดจากเส้นศูนย์สูตรฟ้า ซึ่งจุดบนฟ้าที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรฟ้าจะมีค่าเดคลิเนชันเป็นบวก ในขณะที่จุดที่อยู่ข้างใต้เส้นศูนย์สูตรฟ้าจะมีค่าเป็นลบ การวัดระยะห่างเชิงมุมจากเส้นศูนย์สูตรฟ้าไปยังจุดขั้วฟ้าเหนือมีค่า 0 องศา ไปจนถึง 90 องศา ส่วนเดคลิเนชันในการวัดระยะห่างเชิงมุมจากเส้นศูนย์สูตรฟ้าไปยังจุดขั้วฟ้าใต้มีค่า 0 องศา ไปจนถึง -90 องศา โดยแต่ละองศา (Degree) มี 60 ลิปดา (Arcminute) แต่ละลิปดามี 60 ฟิลิปดา (Arcsecond)

โปรเปอร์ โทชั่น (Proper Motion) คือการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวดวงนั้นไปเท่าไรในหนึ่งปี

นีล เดอ กราสเซ ไทสัน (Neil deGrasse Tyson) ผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลองไฮเดน (Hayden Planetarium) ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน








ที่มา : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000135962
____________________
เครดิต : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) และ กรกมล ศรีบุญเรือง นักวิชาการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
________________________________

อ้างอิง : http://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-2228492/Prominent-astrophysicist-pinpoints-location-Supermans-fictional-home-planet-Krypton.html
________________________________
loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags: , ,
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...