นาซาบังคับยานแฝดที่โคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อทำแผนที่แรงโน้มถ่วง ให้โหม่งขอบหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ หลังเสร็จสิ้นภารกิจ พร้อมตั้งชื่อจุดตก “แซลลี ไรด์” เพื่อเป็นเกียรติแก่นักบินอวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐฯ
ยานแฝดเกรล (Grail) ซึ่งประกอบด้วย ยานเอบบ์ (Ebb) และ ยานโฟล์ว (Flow) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ถูกบังคับให้โหม่งขอบหลุมอุกกาบาตที่ขั้วเหนือของดวงจันทร์ หลังเส็จสิ้นภารกิจทำแผนที่แรงโน้มถ่วง เมื่อเช้าตรู่วันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย
ภาพเส้นทางสุดท้ายของยานเอบบ์และโฟล์ว ก่อนโหม่งดวงจันทร์ (สเปซด็อทคอม/นาซา)
สเปซด็อทคอม ระบุว่า ทีมในโครงการยานแฝดเกรลได้กำหนดจุดที่ยานตกให้มีตาม แซลลี ไรด์ (Sally Ride) มนุษย์อวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐฯ เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอในฐานะผู้บทบาทต่อการศึกษาและผลักดันให้เกิดโครงการยานแฝดเกรล
มาเรีย ซูเบอร์ (Maria Zuber) จากเอ็มไอที (MIT) หนึ่งในทีมโครงการเกรล กล่าวว่า ทีมงานเกรล ทราบดีว่า นาซานั้นมีแผนที่จะสรรเสริญไรด์ในหลายรูปแบบ แต่ทีมเลือกจุดตกของยานให้มีชื่อเดียวกับเธอ เพราะบทบาทของเธอที่มีต่อการศึกษาของโครงการเกรล
รวมทั้งบทบาทต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการศึกษาของเธอนั้นก็มีความสำคัญยิ่งต่อการทำงานของทีม โดยเป็นผู้นำทีมในโครงการ “มูนแคม” (MoonKAM project) ของยานแฝดเกรล ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนจากทั่วโลกได้เลือกพื้นที่บนดวงจันทร์ เพื่อเป็นจุดให้ยานเอบบ์ และยานโฟล์วบันทึกภาพ
ภาพแสดงการทำงานของยานแฝดเกรล (สเปซด็อทคอม/นาซา)
ไรด์มีชื่อเสียงมากจากการเป็นผู้หญิงคนแรกของสหรัฐฯ และเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ของโลกที่ได้บินขึ้นไปในอวกาศ และได้ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 1983 ไปพร้อมกับยานชาเลนเจอร์ (Challenger) ในปฏิบัติการเที่ยวบินเอสทีเอส-7 (STS-7) และในอีกปีต่อมาเธอได้ขึ้นยานชาเลนเจอร์อีกครั้งในปฏิบัติการเอสทีเอส-41จี รวมใช้เวลาในอวกาศ 343 ชั่วโมง แต่เธอเพิ่งเสียชีวิตลงเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาจากโรงมะเร็งตับอ่อน รวมอายุได้ 61 ปี
แบร์ ไรด์ (Bear Ride) น้องสาวของไรด์ ซึ่งทำงานในห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซา ซึ่งเป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการเกรลในช่วงขณะสุดท้ายของยานเอบบ์และยานโฟล์ว กล่าวว่า ครอบครัวของเธอรู้สึกตื่นเต้นต่อการยกย่องครั้งนี้ และยินต่อซูเบอร์และทีมที่สานต่อความฝันนี้และทำให้โครงการประสบความสำเร็จ
“มันเจ๋งมากที่รู้ว่าเมื่อคุณมองขึ้นไปบนดวงจันทร์ตอนนี้ ที่นั่นมีมุมเล็กๆ ของดวงจันทร์ซึ่งตั้งชื่อตามแซลลี และเราก็หวังว่า เด็กๆ จะได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน” น้องสาวของไรด์กล่าว
ยานแฝดเกรลซึ่งย่อมาจากปฏิบัติการ Gravity Recovery And Interior Laboratory นั้น ถูกส่งขึ้นไปเมื่อเดือน ก.ย.2011 และยานเอบบ์กับยานโฟล์วได้ไปถึงดวงจันทร์ในอีก 3 เดือนให้หลังจากนั้น และบินตามกันไปเพื่อทำแผนที่สนามแม่เหล็กที่ให้รายละเอียดที่เราไม่เคยทราบมาก่อน และการวัดสนามแรงโน้มถ่วงของยานแฝดทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำแผนที่แรงโน้มถ่วงที่ดีของวัตถุท้องฟ้าที่ดีที่สุดได้
เมื่อยานแฝดเกรลหมดเชื้อเพลิงก็จะถูกดึงให้พุ่งชนดวงจันทร์ที่จุดใดจุดหนึ่ง ดังนั้น ทีมปฏิบัติการเกรลจึงบังคับให้ยานตก และให้ห่างจากจุดลงจอดของปฏิบัติการอะพอลโล รวมถึงบริเวณอื่นๆ บนดวงจันทร์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นการสิ้นสุดหน้าที่ของยานในโครงการมูลค่า 1.5 หมื่นล้านนี้
ที่มา :http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000153978
____________________
เครดิต :
________________________________
อ้างอิง :
________________________________
loading...