ปี'56 "ดาวหาง" มาให้ชม 2 ดวง

<
<
                       
ภาพคาดการณ์ความสว่างของดาวหางไอซอนเมื่อมองจากฟ้าที่อังกฤษ ในวันที่ 29 พ.ย.56 หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า (universetoday)                               
                                   
               
           

สมาคมดาราศาสตร์ฯ เผยปี '56 มีดาวหางที่อาจสว่างจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า 2 ดวง คือ "ดาวหางแพนสตาร์ส" ที่ค้นพบเมื่อปี '54

โดยคาดว่าจะได้เห็น 30 นาที หลังอาทิตย์ตก ช่วงกลาง มี.ค. และ "ดาวหางไอซอน" ที่ค้นพบเมื่อปี '55 ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นช่วงปลาย พ.ย.56 ไปถึงต้นปี '57



สมาคมดาราศาสตร์ไทยเผยว่าในปี 2556 นี้คนไทยมีโอกาสได้ชมดาวหางที่คาดว่าจะสว่างจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า 2 ดวง

ได้แก่ ดาวหางแพนสตารร์ส (Panstarrs) หรือ C/2011 ซึ่งค้นพบเมื่อ มิ.ย.54 และขณะนี้กำลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์

และเริ่มปรากฏหางจากความร้อนของดวงอาทิตย์แล้ว ดาวหางไอซอน (Ison) หรือ C/2012 S1 ซึ่งเพิ่งค้นพบเมื่อเดือน ก.ย.55



ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวหางแพนสตารร์สจากภาพถ่ายเมื่อเดือน มิ.ย.54 ขณะที่ดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 7.9 หน่วยดาราศาสตร์

(ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ เรียกว่า 1 หน่วยดาราศาสตร์) จะเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 5 มี.ค.56 ซึ่งระนาบโคจรของดาวห่าง 84 องศา

หรือเกือบตั้งฉากกับระนนาบวงโคจรของโลก และจะผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 10 มี.ค.56



คาดว่าจะเริ่มสังเกตดาวหางแพนสตารร์ส ด้วยตาเปล่าได้ในช่วงปลาย ม.ค.56 หรือต้น ก.พ.56 แต่สังเกตได้ดีในซีกโลกใต้ ส่วนในประเทศไทยยัง

ไม่สามารถเห็นได้เพราะดาวหางขึ้นและตกเกือบพร้อมดวงอาทิตย์ ข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์ฯ ระบุว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับประเทศน่าจะเป็นช่วง 9-17 มี.ค.56

เนื่องจากเป็นช่วงที่ดาวหางสว่างที่สุด และตกลับขอบฟ้าช้าที่สุด



“อย่างไรก็ดี ดาวหางจะปรากฏเฉพาะช่วงเวลาที่ยังมีแสงยามเย็น ท้องฟ้าไม่มืดสนิท และปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวปลา ซึ่งเราอาจสังเกตเห็นหางที่ทอดยาวขึ้นเหนือขอบฟ้า

จากแนวโน้มคาดว่าวันที่ 8-12 มี.ค.56 ความสว่างหรือโชติมาตรของดาวหางจะอยู่ในช่วง +1 ถึง -1

ซึ่งนับว่าสว่างมาก แต่การสังเกตจะทำได้หลังดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว 30 นาที โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก” ข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์ระบุ



ส่วนดาวหางไอซอนนั้นเพิ่งถูกค้นพบเมื่อเดือน ก.ย.55 ที่ผ่านมา ขณะดาวหางอยู่ห่าวจากดวงอาทิตย์ 6.3 หน่วยดาราศาสตร์

และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดราว 28-29 พ.ย.56 ที่ระยะห่าง 0.012 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 1.9 ล้านกิโลเมตรและห่างจากผิวดวงอาทิตย์เพียง 1.2 ล้านกิโลเมตร

โดยคาดว่าความสว่างของดาวหางจะอยู่ในช่วงโชติมาตร -10 ถึง -16 หรือสว่างใกล้เคียงและมากกว่าดวงจันทร์ (ค่าโชติมาตรยิ่งติดลบยิ่งสว่าง)



หากความสว่างเป็นไปตามคาดหมาย ทางสมาคมดาราศาสตร์ฯ ระบุว่าผู้สังเกตในประเทศไทยจะได้เห็นดาวหางไอซอนด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้ากลางคืน

ช่วงต้นเดือน พ.ย.56 - เดือน ม.ค.57 แต่ยกเว้นช่วงปลาย พ.ย.-ต้น ธ.ค.55 เพราะดาวหางจะขึ้นและตกไปพร้อมดวงอาทิตย์

โดยดาวหางไอซอนจะเข้าใกล้โลกที่สุดราว 26-27 ธ.ค.56 ที่ระยะ 0.4 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 64 ล้านกิโลเมตร



นายปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช เจ้าหน้าที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ว่า ตำแหน่งของดาวหางไอซอนบนฟ้านั้น

อยู่ในตำแหน่งที่เห็นง่ายกว่าดาวหางแพนสตารร์ส เพราะอยู่กลางฟ้า และยังมีความสว่างกว่ามาก แต่ความสว่างก็อาจคลาดเคลื่อนได้

โดยเมื่อดาวหางเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์อาจสลายไปจนไม่อาจเห็นได้



“สำหรับดาวหางแพนสตารร์สอยู่ในตำแหน่งที่ดูได้ทั้งโลก ซึ่งตอนนี้เริ่มเข้ามาใกล้และเริ่มปรากฏหางแล้ว

นักดาราศาสตร์มีข้อมูลเกี่ยวกับดาวหางดวงนี้มากกว่า ส่วนดาวหางไอซอนจะเห็นได้ดีในประเทศซีกโลกเหนือ ตอนนี้ยังไม่เข้ามาใกล้ ยังเป็นก้อนน้ำแข็งอยู่

และไม่ปรากฏหางที่เกิดจากความร้อนของดวงอาทิตย์” ปณัฐพงศ์กล่าว



เจ้าหน้าที่สมาคมดาราศาสตร์ฯ ให้ข้อมูลอีกว่า ปกติดาวหางจะเข้ามาในระบบสุริยะปีละหลาย 10 ดวง แต่ในปี 56 นี้พิเศษที่มีดาวหางสว่างถึง 2 ดวง

ที่จะได้เห็นในเมืองไทย ซึ่งปกติจะใช้เวลา 5-10 ปีจึงจะได้เห็นดาวหางสว่างๆ จึงน่าติดตาม เพราะทั้งสว่างและเห็นได้ในเมืองไทย

ซึ่งตอนนี้นักดาราศาสตร์รู้แค่ว่าจะโคจรอย่างไร แต่ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อโดนความร้อนของดวงอาทิตย์แล้วจะปริแตกหรือไม่
                       
                       
                                             
ภาพดาวหางแพนสตาร์ส ซึ่งถ่ายจากเปอร์โตริโก เมื่อ 4 ก.ย.55 (Efrain Morales/Jaicoa Observatory)                               
                                                                                                                                                                                                                                                                   
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                       
                                               
ภาพดาวไอซอน เมื่อ 22 ก.ย.55 จากหอดูดาว RAS สหรัฐฯ (E. Guido, G. Sostero, N. Howes)                               
                                   
                             
                       







ที่มา :http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000155247
____________________
เครดิต :
________________________________

อ้างอิง :
________________________________
loading...

คุณรู้สึกอย่างไรกับบทความนี้

Tags: ,
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...